พิจิตรอ่วม! น้ำยมล้นตลิ่งท่วม 5 หมู่บ้านกว่า 200 หลังคาเรือนจมบาดาล ประกาศภัยพิบัตเพิ่มเป็น11อำเภอ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายธีรพงษ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร กล่าวว่ามวลน้ำในแม่น้ำยมจากจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่าลงมาตามลำน้ำยมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ยังมีฝนตกสะสมติดต่อกันหลายวันมีน้ำป่าด้าน จ.กำแพงเพชร ไหลบ่าลงมาสมทบ ส่งผลให้แม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่อำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นจุดรับมวลน้ำ จุดแรกของจังหวัดพิจิตร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกินจุดวิกฤตไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ที่ปลูกสร้างอยู่ริมตลิ่งของแม่น้ำยม ในพื้นที่ตำบลรังนก จำนวน 5 หมู่บ้าน กว่า 200 หลังคาเรือน คือหมู่ที่ 3,4 ,7,9 และหมู่ที่ 11 ซึ่งมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เส้นทางเข้าออกหมู่บ้านหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง และเส้นทางรังนก-สามง่ามฝั่งตะวันตก เส้นรังนก-วังเทโพมวลน้ำกัดเซาะชำรุดและถูกตัดขาดเป็นช่วงๆหลายจุด

นาย ธีระพงษ์ กล่าวอีกว่าโดยเจ้าหน้าที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลรังนก ต้องเร่งนำป้ายแจ้งเตือนภัยและเตือนจุดอันตราย มาทำการติดไว้ตามจุดต่างๆเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ตำบลรังนก ต้องนำเรือออกมาพายสัญจรไปมาในการเข้าออกหมู่บ้าน พร้อมกับขนย้ายสิ่งของมีค่า เช่นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สัตว์เลี้ยงมาขึ้นมาไว้ในที่สูง อย่างไรก็ตามชลประทานจังหวัดพิจิตร ได้เผยว่ามวลน้ำดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่จะได้รับผลกระทบประกอบไปด้วย อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนารง และอำเภอโพทะเล ตามลำดับ

นาย ธีระพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีการพร่องน้ำลงท้ายเขื่อน และมีการผันน้ำในแม่น้ำยม ลงสู่แม่น้ำน่าน บริเวณคลอง DR-2.8 ส่งผลให้ มวลน้ำน่านที่ไหลผ่าน อ.เมืองพิจิตร อ.ตะพานหิน และอ.บางมูลนาก มีระดับเพิ่มสูงขึ้น ใกล้ถึงจุดวิกฤตเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ต.หอไกร ต.บางไผ่ ต.เนินมะกอก และเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก เหลืออีกเพียง 60-70 เชนติเมตรก็จะเินจุดวิกฤต อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมให้เร่งขนย้ายสิ่งของสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมจากเหตุน้ำป่าไหลหลาก และแม่น้ำล้นตลิ่ง รวม 11 อำเภอ 60 ตำบล 402 หมู่บ้านจากทั้งหมด 12 อำเภอ ทั้งนี้ให้ส่วนราชการได้นำเงินทดลองราชการ เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยดังกล่าวต่อตามความเหมาะสมต่อไป พร้อมทั้งทำหนังสื่อเร่งด่วนไปยังทุกอำเภอ ปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เตรียมวัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้พร้อมเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือ

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์