นายจักกพันธุ์กล่าวว่า โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมโยงโครงข่ายถนนสายหลักตามแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ และเป็นถนนในแผนแม่บทผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 สาย ช.3 เริ่มต้นโครงการที่ทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนรามคำแหง 24 ไปตามแนวถนนกรุงเทพกรีฑา พร้อมทั้งก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถยนต์บริเวณแยกถนนกรุงเทพกรีฑา 7 เพื่อเบี่ยงแนวถนนตามแนวเวนคืนที่ใหม่ จากนั้นเป็นแนวตรงตลอดจนข้ามทางหลวงหมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกตะวันตก) ไปสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้า-ถนนเจ้าคุณทหาร ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร (กม. ) มี 6-10 ช่องจราจร 2 ทิศทาง มีงานก่อสร้างสะพานต่างระดับ 3 แห่ง อุโมงค์ทางลอด 1 แห่ง และสะพานข้ามคลอง 9 แห่ง ปัจจุบันโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วงที่ 1, 3, 6 และ 7 แล้วเสร็จ เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561
นายจักกพันธุ์กล่าวว่า สำหรับช่วงที่ 2 ตั้งแต่คลองหัวหมาก-คลองลำสาลี ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา งานคืบหน้าร้อยละ 80.25 คาดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ในช่วงที่ 2 ได้แบ่งเนื้องานในการก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วขึ้น ประกอบด้วย ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ความยาว 560 เมตร (ม.) ก่อสร้างผิวจราจรทางราบ ความยาว 420 ม. ก่อสร้างถนนคอยกรีตเสริมเหล็ก 6 ช่องจราจร ความยาว 2,400 ม. และปรับปรุงถนนกรุงเทพกรีฑาซอย 9 ถึงซอย 28 โดยเทพื้นแอสฟัลต์ ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ความยาว 3,600 ม. ส่วนช่วงที่ 5 บริเวณสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ 6 ช่องจราจร ซึ่งการก่อสร้างทางต่อเชื่อมจะมีทั้งหมดอยู่ 2 จุด ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 50.38 ซึ่งตามแผนงานจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักการโยธาติดตามการก่อสร้างในช่วงที่ 2 และช่วงที่ 5 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อโครงการ รวมทั้งการปรับแผนการทำงานบริเวณสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งการทำงานในช่วงที่ 5 จะเป็นการติดตั้งโครงสร้างสะพาน โดยจะประกอบสำเร็จรูปจากโรงงาน และนำมาติดตั้งบริเวณสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก เพื่อให้สะพานทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกัน คาดว่าในฝั่งขาเข้าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจะติดตั้งในฝั่งขาออก คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนเมษายนปีเดียวกัน
“เมื่อโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้าแล้วเสร็จ จะเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนน บรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตลาดกระบัง และบริเวณใกล้เคียง” นายจักกพันธุ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนคุ้มเกล้า เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของถนนเดิมให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยดำเนินการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ จากถนนสุวินทวงศ์ถึงถนนเจ้าคุณทหาร และก่อสร้างถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ จากถนนเจ้าคุณทหารถึงถนนเลียบมอเตอร์เวย์ ในพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตมีนบุรี ระยะทางรวม 9.4 กม.
“การก่อสร้างปรับปรุงถนนคุ้มเกล้า แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย การก่อสร้างปรับปรุงถนนคุ้มเกล้า ช่วงที่ 1 จากถนนสุวินทวงศ์ถึงคลองตาเสือ เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เขตทางกว้าง 20-30 ม. ระยะทางประมาณ 3.7 กม. ก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 1 แห่ง ก่อสร้างสะพานข้ามลำรางสาธารณะ 1 แห่ง ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนน 4 แห่ง และการก่อสร้างปรับปรุงถนนคุ้มเกล้า ช่วงที่ 2 จากคลองตาเสือถึงถนนเลียบมอเตอร์เวย์ ถนนช่วงจาก กม.3 ถนนเจ้าคุณทหาร ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เขตทางกว้าง 30 ม. และเป็นถนนลาดยางพร้อมไหล่ทาง ช่วงจาก กม.6 ระยะทางประมาณ 5.7 กม. ก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 1 แห่ง ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนน 2 แห่ง” นายจักกพันธุ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม แนวเขตทางในบางช่วงไม่เป็นตามรูปแบบก่อสร้าง สำนักการโยธาจึงพิจารณาดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์เพิ่มเติม ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 28.18 ทั้งนี้ในช่วงที่ 2 จากคลองตาเสือถึงถนนเลียบมอเตอร์เวย์ ได้แบ่งเนื้องานการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง คือ คลองตาเสือถึงถนนเจ้าคุณทหาร และถนนเจ้าคุณทหารถึงถนนเลียบมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 เพื่อให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วเสร็จโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ช่วงถนนเจ้าคุณทหารถึงถนนเลียบมอเตอร์เวย์ ระยะทางประมาณ 2.8 กม. ที่ผ่านมาผู้รับจ้างได้ดำเนินงานถมทรายคันทาง งานชั้นรองพื้นทาง งานชั้นพื้นทาง ปรับพื้นดินเดิม และวางท่อระบายน้ำ ขณะนี้งานคืบร้อยละ 48.97 คาดว่าการก่อสร้างในช่วงนี้จะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดใช้งานได้ในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตในพื้นที่โครงการก่อสร้าง ลงพื้นที่พูดคุยสร้างความเข้าใจกับเจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแนวเขตทางให้รื้อย้ายออก พร้อมทั้งเร่งรัดผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างถนนในช่วงดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัญญา ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าหากฝนไม่ตกต่อเนื่อง จะเริ่มเทพื้นยางมะตอย จะสามารถทำงานได้เร็วขึ้น เพื่อให้เปิดใช้งานได้ก่อนเดือนธ.ค.นี้ เมื่อโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนคุ้มเกล้าแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่ปิดล้อม เชื่อมต่อถนนสายหลักจากถนนสุวินทวงศ์ และมอเตอร์เวย์ อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนในพื้นที่เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง และพื้นที่ใกล้เคียง
“ระบบการจราจรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแนวเหนือ-ใต้ ส่วนแนวตะวันออก-ตะวันตกในปัจจุบัน ยังมีเส้นทางคมนาคมขนส่งอยู่น้อย โครงการก่อสร้างดังกล่าวจึงเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในแนวตะวันออก-ตะวันตก อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางจากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคตด้วย” นายจักกพันธุ์ กล่าว