เปิดทางออกกัญชา 5 รูปแบบ รอ “บิ๊กตู่” ตัดสินผ่านหรือตัน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประธานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กัญชาทางการแพทย์ กับกฎหมาย” ว่า เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ และหลายประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้รักษาช่วยชีวิตผู้ป่วย ปัญหาคือ ในประเทศไทยยังติดเรื่องกฎหมาย แม้ที่ผ่านมาจะผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ซึ่งขณะนั้นก็กำหนดกรอบว่าผ่านขั้นตอนต่างๆก็ราว 180 วัน คือ จะสามารถนำสารสกัดกัญชามาใช้ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาสมาชิก สนช.ก็มีความกังวลว่าจะไม่ทันกรอบเวลาที่วางไว้

นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาชิก สนช. จึงรวมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ต่อที่ประชุม สนช. เพื่อแก้ไขให้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ กัญชาและพืชกระท่อม สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ โดยได้นำเสนอร่างแก้ไขให้กับทางเลขาธิการวุฒิสภา ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เพื่อนำร่างกฎหมายรับฟังความเห็นผ่านทางเว็ปไซต์ของ สนช. ใช้เวลา 15 วัน และจะเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งกรณีน่าจะจัดขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม จากผลรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ประมาณ 1 แสนคน พบว่าร้อยละ 98.9 เห็นด้วยให้นำสารสกัดกัญชามาใช้ทางการแพทย์

“สรุปคือ ทางออกของกัญชาใช้ทางการแพทย์ได้ ขณะนี้มี 5 ทางเลือก 1.รอกระบวนการของประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าจะประกาศทันหรือไม่ 2.กรณีของ สนช.ที่รวมกันเสนอร่างกฎหมาย และในเดือนนี้น่าจะมีสัมมนาใหญ่ในการรับฟังความคิดเห็น 3.เสนอให้ใช้มาตรา 44 อาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกกัญชาให้นำมาใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีการประกาศใช้หรือไม่ เพราะข่าวล่าสุดพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะนำเรื่องนี้ เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา ภายในวันศุกร์นี้ (19 ต.ค.) ส่วนจะออกมาเป็นรูปแบบไหน จะออกมาตรา 44 หรือไม่ก็ต้องรอกัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า 4.เป็นแนวทางที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีการพูดคุยกันว่า ในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติสามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเปลี่ยนแปลงประเภทของสารสกัดกัญชา จากสารเสพติดประเภทที่ 5 เป็นประเภท 2 ได้หรือไม่ เพื่อให้นำมาใช้ทางการแพทย์เหมือนมอร์ฟีน และแนวทางที่ 5 ออกกฎหมายใหม่เฉพาะขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใดต้องขอย้ำว่า การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น ไม่มีการนำมาใช้เพื่อผ่อนคลาย หรือเพื่อความบันเทิง

เมื่อถามว่ากรณีที่เร็วที่สุดจะเป็นแนวทางใด นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องพิจารณาหลายอย่าง อย่างหากกรณีใช้มาตรา 44 ก็ต้องมีกฎหมายลูกออกมาอีก น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่หากเป็นคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะประชุมได้ในเดือนพฤศจิกายน และถ้าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ก็น่าจะใช้เวลาผ่านขั้นตอนต่างๆประมาณ 1 เดือน ซึ่งในเดือนมกราคม 2562 ก็น่าจะประกาศใช้ทางการแพทย์ได้เลย ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามทางองค์การเภสัชกรรมต้องมีความในการเตรียมสารสกัดที่สามารถใช้ได้เลยในวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งตามแผนการดำเนินงานก็ได้เร่งรัดทางผู้อำนวยการอภ.ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะขณะนี้มีกัญชาที่ได้รับมอบเป็นของกลาง จำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บข.ปส.) ซึ่งผลิตเป็นสารสกัดและน้ำมันกัญชาได้ประมาณ 18,000 ขวด หากไม่พอจะขอของกลางเพิ่มอีก 2 ตันในการผลิต

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าตั้งเป้าว่ากฎหมายต้องออก เพราะเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว นพ.โสภณ กล่าวว่า คิดเช่นนั้น เพราะถ้าเรารอกฎหมาย และยังไม่วางแผนไม่ดำเนินการอะไรเลย คงไม่ทันประเทศอื่นๆ ที่สำคัญมีข้อบ่งชี้ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ซึ่งหลักๆ มี 4 กลุ่ม และจะมีการพิจารณาข้อบ่งชี้เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะมีการประชุมเรื่องข้อบ่งชี้ในการใช้ในกลุ่มโรคต่างๆเพิ่มในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับ 4 กลุ่ม คือ 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดรุนแรง ส่วนข้อเสนอเพื่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสันนั้นก็จะศึกษาไปพร้อมกัน

“อภ.วางแผนในเรื่องการจัดเก็บและผลิตสารสกัดไว้ 3 ระยะ เริ่มจากระยะแรก ทำในห้องปฏิบัติการที่องค์การเภสัชกรรม ที่ถนนพระรามหก ซึ่งจะมีชั้นดาดฟ้าในการเพาะพันธุ์แบบลอยฟ้า มีระบบคุมเข้ม ไม่ให้มีการเล็ดลอด ระยะที่สอง เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยจะไปทำที่โรงงานผลิตยาที่รังสิต ซึ่งยังมีพื้นที่อยู่ โดยจะนำเข้าเครื่องสกัดสารขนาดใหญ่ขึ้น งบประมาณ 7-8 ล้านบาท และจะทำสถานที่ปลูกบนดาดฟ้า และ 3.เป็นระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากต้องใช้พื้นที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน อภ.มีที่ดินอยู่บริเวณอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรีจำนวน 1,500 ไร่ วางแผนทำเป็นเหมือนคอมเพล็กซ์ แบบครบวงจร ทั้งแหล่งปลูกกัญชาถูกกฎหมาย แหล่งสกัดสาร วิจัยพัฒนาต่อยอด สกัดเป็นน้ำมันกัญชารักษาโรค และจะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องนี้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นครั้งแรกของไทยถ้ากฎหมายปลดล็อกได้” นพ.โสภณ กล่าว

ผศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับ 5 แนวทางในการปลดล็อกทางกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าต้องการให้เป็นไปในแนวทางใด เช่น หากระยะยาวต้องการเป็นระบบแบบครบวงจร และทำเพื่อคนป่วยอย่างแท้จริง ไม่มีการเมือง หรือทุนอะไรเข้าแทรก น่าจะต้องแยกออกเป็นกฎหมายเฉพาะ และจะใช้มาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้กฎหมายออกมาเร็วกว่าปกติ แต่ก็ไม่ใช่คำตอบเดียว เป็นทางเลือก จึงต้องให้สะเด็ดน้ำตรงนี้ด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การปลดล็อกครั้งนี้ไม่ใช่ว่าฟรี ว่าปลอดจากการควบคุม หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าปลดล็อกคือปลดการควบคุม ซึ่งไม่ใช่ เพราะการปลดล็อกหมายถึง ปลดออกจากการถูกสาปให้เป็นยาเสพติดชั่วนิรันดร แต่ให้ปลดออกมาในมิติที่เอาด้านประโยชน์มาใช้ทำยา แต่ว่าต้องมีกระบวนการทางกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด หากจะเป็นเช่นนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ เอาไม่อยู่ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการปราบปรามยาเสพติด ไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตยารักษาโรค

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.นำวัตถุดิบกัญชามาจากของกลาง ซึ่งในอนาคตเราต้องปลูกเอง และให้ได้พันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้สารสกัดคงที่ อย่างไรก็ตาม สำหรับ100 กิโลกรัมที่เป็นของกลาง และหากได้สารสกัดที่ครบถ้วนก็น่าจะผลิตออกเป็นน้ำมันกัญชาได้18,000 ขวดตามกำหนดคือประมาณมกราคม 2562

รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กัญชามีสารสกัด 2 ชนิด คือ ทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารที่กล่อมประสาท และซีบีดี (CBD) ซึ่งการสกัดสารออกมายังขาดสารซีบีดี เนื่องจากพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูง แต่การนำมารักษาโรคจะต้องมีสารทั้ง 2 ชนิดควบคู่กัน ขาดกันไม่ได้ ขณะนี้กำลังประสานและติดต่อนำเข้าจากต่างประเทศ จากนั้นก็จะนำมาพัฒนาในไทยเพื่อให้ได้สาระสำคัญทั้ง 2 ชนิดต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์