“เชียงใหม่”ฤดูหมอกควันยาวนานขึ้น สถาบันวิจัยมช.ทดลองสร้างเครื่องฟอกอากาศราคาเยาช่วยชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จ.เชียงใหม่ สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังคงอยู่ในระบบกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ค่าฝุ่นฯขนาดจิ๋ว(PM2.5) และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ระดับความเข้มข้นของสารมลพิษในอากาศ (AQI) ยังคงเกินจากค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่สนธิกำลังกันเฝ้าระวังและเข้าควบคุมดับไฟป่าในทุกอำเภอยังลงพื้นที่แก้ปัญหา ทั้งดับไฟป่าและตรวจตราการลักลอบจุดไฟ และป้องปรามการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่แปลงเกษตรในอำเภอของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะพยายามลดการเกิดกลุ่มหมอกควันให้น้อยที่สุด

ล่าสุด ศาสตราจารย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือตอนนี้ถือเป็นระยะเริ่มต้น เป็นไปได้ว่านโยบายของรัฐที่ห้ามเผาในช่วงระยะเวลาที่ประกาศ คือ 1 มีนาคม-กลางเดือนเมษายนที่ออกมานั้น ส่งผลให้ชาวบ้านรีบเผาก่อนถึงช่วงห้าม ทำให้ปัญหาการเกิดมลพิษหมอกควันปีนี้มาเร็วจากเดิมหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาหมอกควันจะเริ่มมีนาคม-เมษายน แต่ปีนี้มาตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะมีการเผาอีกในช่วงมีนาคม-เมษายน

“ช่วงของการเกิดหมอกควันปีนี้ยาวขึ้น แต่ความรุนแรงในเดือนมีนาคมถึงเมษายนจะหนักหรือเบาบางลง คงต้องรอดูกันต่อ ประเมินว่าปัญหาน่าจะยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านๆมา ช่วงเวลาการเกิดมลพิษหมอกควันขยายกว้างขึ้น แต่อาจไม่รุนแรงเท่าเดิม เพราะน่าจะมีการเผาเป็นระยะๆ อาจไม่โหมเผาทีเดียวในช่วงมีนาคม หรือเมษายนอย่างที่ผ่านๆมา”

ศาตราจารย์ขวัญชัย กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ด และจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำเว็บไซต์ www.cmaqhi.org ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางแจ้งบอกค่าดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จะได้รับรู้คุณภาพอากาศในทุกอำเภอ ทั้งแบบเวลาจริงทุกชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พร้อมคำอธิบายระดับดัชนีคุณภาพอากาศ และคำเตือนในการปฏิบัติตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพชาวเชียงใหม่

“เว็บฯนี้เป็นความร่วมมือกันของกลุ่มแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ และผู้สนใจศึกษาเรื่องคุณภาพอากาศกลุ่มเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็นกันในไลน์กลุ่ม Suandok Air Alert ขณะนี้มีมากถึง 200 คน โดยปรึกษากันถึงผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5) ที่มีความเข้มข้นในอากาศสูงในช่วงฤดูหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดจากการเผาเกษตรในภาคเหนือตอนบน เมียนม่าร์ ลาว และจีนตอนล่าง

ที่ผ่านมา กรมควบคุมคุณภาพอากาศ แจ้งดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ยรายวันและรายปีเฉพาะค่า PM10 ซึ่งไม่สามารถสะท้อนระดับมลพิษได้ดีเท่า PM2.5 แม้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่สามารถวัดค่า PM2.5 ได้มาหลายปีแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้ค่า PM10 ในการแบ่งระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยรายวันกรมฯใช้ค่า PM10 120 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกใช้ ค่า 50 มคก./ลบ.ม. ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี กรมฯ ใช้ค่า 50 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกใช้ค่า 20 มคก./ลบ.ม.) นอกจากนี้กรมฯประกาศเตือนแก่สาธารณะโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เพียงวันละ 1 ครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอที่ประชาชนจะนำไปใช้ลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ เพราะค่าดัชนีคุณภาพอากาศมีความแปรปรวนระหว่างวันสูง จึงเป็นที่มาของการจัดทำเว็บฯแจ้งเตือนคุณภาพอากาศของเรา

ล่าสุด 1 เดือนที่ผ่านมา เราได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ. ดร. พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม (RUEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อ.ดอยสะเก็ด ให้นำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กไปวัดเปรียบเทียบกับเครื่องวัดมาตรฐาน teom1405f ที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก US EPA และ รศ.ดร.พิศิษฐ์นำค่าความชื้นสัมพัทธ์มาปรับค่าของเครื่องวัด ให้ได้ผลการวัดเปรียบเทียบใกล้เคียง กับเครื่องวัดมาตรฐาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะติดตั้งให้ครบ 205 ตำบลในทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ (เชียงใหม่มี 25 อำเภอ) ซึ่งถือเป็นเครื่องตรวจวัดคุณภาพฝุ่นฯที่มีคุณภาพแต่ราคาไม่แพง

“ถ้าจะติดให้ครบ 205 ตำบลต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 400,000 -500,000 บาท ขณะนี้มช.ให้งบประมาณดำเนินการมาแล้ว ซึ่งเราติดตั้งไปแล้วประมาณ 50 จุดใน 4 อำเภอ คิดเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด คาดว่าจะติดตั้งให้ได้ครบภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลตำบล และ อบต.จัดตั้งเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้งานเครื่องวัดคุณภาพอากาศดังกล่าว เราตั้งเป้าจะให้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอนอกเมืองได้รับทราบระดับความรุนแรงของคุณภาพอากาศในแต่ละวัน เพื่อใช้แจ้งเตือนและกำหนดแนวทางการหาสาเหตุแก้ไขปัญหาการเกิดอากาศเสียในพื้นที่ รวมทั้งชาวบ้านจะได้ปฏิบัติตัวใช้ชีวิตประจำวันที่ปลอดภัย เช่น หากระดับดัชนีชี้วัดอากาศ AQI PM2.5 และ PM10 เกินค่ามาตรฐานสูงมากจนเป็นสีม่วง ชาวบ้านควรงดออกจากบ้านอยู่แต่ในบ้าน หรือหากเป็นสีแดง ก็ควรทำกิจกรรมนอกบ้านแล้วรีบกลับเข้าบ้าน อย่าอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน”

ศาตราจารย์ ขวัญชัย กล่าวอีกว่า สภาพอากาศในช่วงฤดูหมอกควันที่เชียงใหม่ขณะนี้ และในอนาคตที่ยังคงมีปัญหา หากคนที่พอมีกำลังซื้ออาจจำเป็นต้องมีเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งในบ้านเพื่อป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย แต่สำหรับผู้มีรายได้น้อยชาวบ้านธรรมดาคงจะซื้อเครื่องฟอกอากาศที่ราคาแพงเรือนหมื่นไม่ไหว สถาบันฯอยู่ระหว่างทดลองทำนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัดแบบพัดลม เบื้องต้นคือ นำแผ่นผ้ากรองรถยนต์ราคาถูก ที่ปัจจุบันมีผลิตขายในท้องตลาด และสามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ นำมาทดลองติดพัดลม เพื่อเป่าให้มันกรองอากาศ รวมถึงทดลองติดผ้ากรองอากาศเข้ากับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนของการทดลองตรวจวัด หากได้ผลดีจะแจ้งให้ทราบ ซึ่งจะเป็นเครื่องฟอกอากาศที่จ่ายในราคาไม่เกิน 500 บาท เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จะได้มีเครื่องกรองอากาศที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อในราคาที่แพง และเริ่มขาดตลาดในช่วงที่ปัญหาหมอกควันพุ่งสูงขึ้น

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์