สรุปเหตุผลที่ “ป่าแก่งกระจาน” ยังไปไม่ถึง “มรดกโลก”

ภาพจาก google maps

การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปีนี้ เมียนมาและลาว ประเทศเพื่อบ้านของเราได้เฮกันไปแล้ว กับกรณี “พุกาม” เมืองโบราณของพม่า และ “ทุ่งไหหิน” ของลาวได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะที่ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ความหวังมรดกโลกของไทยในปีนี้ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ที่ประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ของไทย ที่รัฐบาลไทยเสนอเข้าไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้นไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยมีการพิจารณากันอย่างยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2562

การประชุมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมยังไม่สามารถพิจารณาได้ จากนั้นคณะทำงาน 6 ประเทศจากกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก 21 คือ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นอร์เวย์ คิวบา ตูนิเซีย และคูเวต ได้หารือรายละเอียดร่วมกัน ต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม มีผู้คัดค้านกรณีที่ประเทศไทยยังแจกแจงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในพื้นที่ได้ไม่กระจ่าง ทำให้วาระการประชุมต้องเลื่อนออกไปอีก ระหว่างนั้นผู้แทนประเทศไทยก็พยายามวางแผนชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ในที่สุดคณะกรรมการมีมติไม่รับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปีนี้ ให้ไทยทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาใหม่ในปีต่อไปหรือภายใน 3 ปี 

คณะกรรมการฯระบุให้ไทยทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและพม่าให้ชัดเจน 2.ให้ทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดระเบียบข้อที่ 10 ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติที่ว่าด้วยเรื่องทางหลากหลายชีวภาพ 3.ให้ทำข้อห่วงกังวลเรื่องชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการฯเป็นห่วงประเด็นสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

หลังทราบผลการพิจารณาแล้ว นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า สถานะของป่าแก่งกระจานไม่ได้ถูกตีตก คณะกรรมการฯเปิดโอกาสให้ไทยส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาภายใน 3 ปี หากไทยสามารถส่งข้อมูลทางเทคนิคต่าง ๆ ได้ครบภายในปีหน้าก็สามารถขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ทันที

“การที่คณะกรรมการมรดกโลกให้โอกาสประเทศไทยเช่นนี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่ยังมีโอกาสจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคเพื่อกลับมาขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกครั้ง แม้ว่าข้อมูลทั้งหมดที่ทางคณะกรรมการเป็นกังวล ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา และเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยเราดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว แต่ข้อมูลทั้งหมดจะต้องถึงที่ประชุมภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 แต่การแก้ปัญหาของเราไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมายคนและชุมชนอยู่กับป่านั้น กฎหมายเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หลังจากนี้เราจะนำเสนอข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการพิจารณาในปีต่อไป”

หัวหน้าคณะผู้แทนไทยกล่าวอีกว่า หลังจากนี้รัฐบาลไทยควรจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หรือพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจจะดูแลทรัพยากร เพื่ออนุรักษ์เอาไว้เป็นมรดกของโลกต่อไป ดังนั้นในครั้งหน้า ไทยมีแนวโน้มเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกได้อีก นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการต่อไปคือการขอเสียงสนับสนุนในการสรรหากรรมการมรดกโลกเพื่อให้ไทยมีโอกาสทำงานในเวทีนี้อย่างเต็มตัวต่อไป

 

เรียบเรียงจาก   

https://www.matichon.co.th/local/news_1570582

https://www.matichon.co.th/local/news_1571362