ก.ยุติธรรมรุกแก้”หนี้นอกระบบ” เผยชาวบ้านยังถูกเอาเปรียบ ที่ดินหลุดมือจากการทำสัญญาขายฝาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 นี้ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ได้ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และนักศึกษาหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง หนี้นอกระบบ : บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร โดยจัดขึ้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ทั้งนี้ จะได้มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคมจาก 60 หน่วยงาน เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทีดีอาร์ไอ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมบังคับคดี ยุติธรรมจังหวัด มูลนิธิชีวิตไท เป็นต้น

พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า จากการดำเนินงานพบว่าประชาชนในหลายพื้นที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้สิน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขาดการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและการทำสัญญา

เมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้ถูกบังคับคดีและยึดทรัพย์สิน โดยเฉพาะเกษตรกรในหลายพื้นที่ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินของตนเอง จากการทำสัญญาขายฝาก และทำสัญญาที่เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงาน ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านกฎหมายได้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ด้านนโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยให้บูรณการการแก้ปัญหาแบบครบวงจร ทั้งในมิติด้านการช่วยเหลือแหล่งทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เพื่อให้เจ้าหนี้เข้าสู่ในระบบพิโคไฟแนนซ์

นอกจากนี้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาให้เน้นการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นระบบการบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็วเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาสและการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน

ขณะที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมระดมความคิดเห็นหารือแนวทางการปรับปรุง พัฒนารูปแบบกลไกการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในทุกมิติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย การบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร การบูรณาการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ การบูรณาการหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่ประสบปัญหาในหลาย ๆ รูปแบบมาให้ข้อมูลด้วย