ประกาศราชกิจจาแล้ว โควิด-19 “โรคติดต่ออันตราย” ฝ่าฝืน คุก 2 ปี ปรับ 5 แสน

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 25633 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า“ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของข้อ๑ แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการส าคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559 “(14) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”

ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

 

เมื่อประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย มีผลบังคับใช้ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กล่าวคือ ประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม จะต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลเป็นจริง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท

ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลตามความจริง จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงกับอาการป่วย และสร้างความปลอดภัย ป้องกันบุคคลอื่นไม่ให้ติดโรค

ประกาศโควิด-19  จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 วัน หรือมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

ตั้งแต่วันประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเป็นการฝ่าฝืนในส่วนของมาตรา 40 (2) ซึ่งกำหนดในกรณีที่มีการประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในประเทศ โดยจัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้

โดยหมวด 9 ในพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  กำหนดบทกําหนดโทษ ดังนี้

มาตรา 49 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการคณะกรรมการด้านวิชาการหรือคณะอนุกรรมการตาม

มาตรา 18 หรือคําสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามมาตรา 22 (6) หรือคําสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 28 (6)หรือคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 45 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 50 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 51 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (1)(2)(5) หรือ (6) มาตรา 39(1)(2)(3)หรือ(5) มาตรา 40(5)หรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 39(4)ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(3)(4)(7)หรือ(8)หรือมาตรา 40(3)หรือ(4)หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามมาตรา 35 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 53 ผู้ใดไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 54 เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 40 (2)ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 55 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 45 วรรค 3 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 56 ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 46 กระทําการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 57 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอํานาจเปรียบเทียบได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกําหนดเมื่อผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีคำสำคัญ 3 คำ คือ

1.แยกกัก –  ผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วจะต้องนำเข้าแยกกักในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ

2.กักกัน – คนที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงต้องกักกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจเป็นที่บ้านของคนผู้นั้นเอง เป็นเวลาครบ 14 วัน

3.คุมไว้สังเกตอาการ – ผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่จะต้องคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยให้อยู่ที่บ้าน แต่จะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน วัดไข้ และเมื่อป่วยให้ไปพบแพทย์