เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัว สามีใช้ปืนฆ่าภรรยามากที่สุดอันดับ 1

เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 22 กันยายน ที่ห้องกิ่งทอง ชั้น 2 โรงแรมเอเชีย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2559 ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “ความรุนแรงฆ่าครอบครัว”

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รอบ 1 ปีในปี 2559 จากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 466 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 86 ข่าว หรือ 18.5% หากจำแนกความรุนแรง พบว่า 71.8% สามีกระทำต่อภรรยา 65.2% เป็นคู่รักแบบแฟนโดยฝ่ายชายเป็นผู้กระทำ 35.7% พ่อกระทำต่อลูก และ 20.8% พี่น้องกระทำต่อกัน

“โดยมีการฆ่ากันถึง 48.5% ฆ่าตัวตาย 17.6% และฆ่าตัวตาย 17.4% ที่น่าห่วงคือวิธีการที่สามีลงมือฆ่า 43.6% ใช้อาวุธปืนซึ่งถือเป็นจำนวนมากกว่าครึ่ง 32.7% ใช้มีดหรือของมีคม ขณะที่ 23% เลือกใช้วิธีฆ่าแบบอื่น เช่น ตบตีจนเสียชีวิต เผา ขับรถชน บีบคอ กดหมอน กระบอกไฟฉาย ไม้หน้าสาม พลั่ว ส่วนมูลเหตุที่ทำให้ฆ่า 78.6% มาจากการหึงหวง ระแวง ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี กลับกันจะพบว่าหากผู้หญิงลงมือฆ่าเหตุมักเกิดจากถูกทำร้ายมายาวนานจนทนไม่ไหว โดยกรุงเทพมหานครมีตัวเลขของเหตุมากที่สุด” นางสาวจรีย์กล่าว

ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากสถิติที่เกิดขึ้นนี้ ความน่าสนใจคือจะทำอย่างไรให้เหยื่อลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิตนเอง และไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป ลุกขึ้นมาสู้ว่าจุดไหนเป็นต้นเหตุของปัญหาและควรยุติอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลมากกว่าการร่างกฎหมายไม่รู้กี่ฉบับ และ 2.คือจะทำอย่างไรให้ผู้กระทำยุติการทำความรุนแรง อย่างเด็กบ้านกาญจนาเราจะช่วยกันคิดกับเด็กว่าช่วงเวลานั้นเขาคิดอะไร ทำอะไร เพราะอะไร ซึ่งเมื่อเขารู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ ควบคุมตัวเองให้ได้ ก็จะไม่กระทำอีก สองสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้

 

Advertisment

ที่มา มติชนออนไลน์