เปิดเบื้องหลังเหตุผล “ไพรินทร์” พ้นเก้าอี้บอร์ดการบินไทย

เหตุผลหลักที่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริหาร บมจ.การบินไทย หลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วัน นอกจากประเด็นทางกฏหมายของ ป.ป.ช.ยังมีเหตุผลของกระแสทางสังคมร่วมด้วย

ในการประชุมบอร์ดการบินไทยวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) จะมีการรายงานสถานการณ์ความคืบหน้า ของการเริ่มต้นการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลาย และรับทราบการ “ลาออก” ของนายไพรินทร์ บอร์ดใหม่ พร้อมสาเหุตต่างๆ

ทั้งนี้ การลาออกของนายไพรินทร์ ถูกอธิบายสาเหตุว่า มาจากติดกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งนายไพรินทร์ พ้นจากตำแหน่ง รมช.คมนาคม ไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไม่สามารถไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนได้ นอกจากนี้สมัยที่นายไพรินทร์เป็น รมช.คมนาคม ได้กำกับดูแลบริษัทการบินไทย จึงเกรงว่าการเป็นกรรมการบริษัทการบินไทยในครั้งนี้จะมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งได้ จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้การฟื้นฟูบริษัทการบินไทยมีปัญหา

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ 1 ในบอร์ดใหม่ รุ่นเดียวกับ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เขาคิดว่า “ไม่น่าจะผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เพราะ บมจ.การบินไทยพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว ภายหลังกระทรวงการคลังขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์”

“เหตุผลของคุณไพรินทร์ในการลาออก เพราะจะมีคนแย้งว่าผิด และเป็นประเด็นปัญหาจุกจิก จึงตัดสินใจลาออก เพื่อตัดปัญหา ไม่ให้มีประเด็นโต้เถียง โต้แย้ง บอร์ดจะได้มีเวลาทำงาน และคุณไพรินทร์ก็ไม่ได้ติดใจว่าต้องเข้ามามีตำแหน่งในบอร์ด และไม่ต้องการให้มีปัญหากับทีม และการทำงานของส่วนรวม จะได้มีเวลาทำงาน และเพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย จึงตัดสินใจลาออก”

นายพีระพันธ์ ระบุว่า “นายไพรินทร์ยังได้ปรึกษากับทีมกฎหมายส่วนตัว และเช็กทั้งข้อกฎหมาย-กระแสสังคม ซึ่งมีทั้งผิด-ไม่ผิด แต่เพื่อไม่ให้เปิดช่องให้มีการหยิบขึ้นมาโจมตี เพื่อไม่ให้เสียเวลาทำงานจนกระทบภาพรวมของการทำงานและเป้าหมายใหญ่”

“ถึงแม้นายไพรินทร์จะลาออกจากบอร์ดการบินไทย แต่ชื่อผู้ทำแผนที่ถูกเสนอให้ศาลสั่งยังคงสถานะเป็นแคนดิเดตผู้ทำแผนต่อไป เพราะเป็นคนละเงื่อนไขตามกฎหมายป.ป.ช.ที่ห้ามเฉพาะเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ไม่ห้ามเป็นผู้จัดทำแผน” บอร์ดการบินไทยรายนี้ระบุ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา การบินไทย กล่าวเมื่อวานนี้ว่า (27 พ.ค.) ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกรรมการใหม่แทนนายไพรินทร์ เพราะตอนนี้บริษัทการบินไทย เป็นบริษัทเอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระเบียบของคณะกรรมการกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดไว้บริษัทต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งตอนนี้บริษัทการบินไทยมีกรรมการเกินกว่าที่ก.ล.ต.กำหนด

“การลาออกของนายไพรินทร์ ไม่มีผลกระทบกับแผนฟื้นฟูการบินไทยที่อยู่ให้ศาลล้มละลายกลางไปแล้ว และมีชื่อของนายไพรินทร์ อยู่ในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูได้ เพราะรายชื่อคนทำแผนฟื้นฟูสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาจนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุมัติให้ทำแผนฟื้นฟู และการลาออกของนายไพรินทร์ ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้ง เป็นเรื่องปัญหาของข้อกฎหมายของ ป.ป.ช.เท่านั้น” นายประภาศ กล่าว

น่าสนใจว่า ทั้งนายพีระพันธุ์ และนายประภาศ ล้วนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นายไพรินทร์ จะยังคงอยู่ใน “ทีมทำแผนฟื้นฟู” ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยืนหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยแจ้งว่านาย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ในรายชื่อกรรมการของบริษัทการบินไทยที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะลูกหนี้ ถึงรายชื่อกรรมการของบริษัทฯผู้ทำแผนก็ไม่ปรากฎชื่อของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวรด้วย  มีเพียงชื่อของของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับกรรมการบริษัทฯอีก 5 รายคือ  1.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน  2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์