กทม.เกาะติดสถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมง หวั่นท่วม 400 หลังนอกเขื่อน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ในภาพรวมของแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าตามที่ กทม.ได้ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และประสานงานร่วมกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันระดับน้ำในแม่เจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากเดิม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที โดย กทม.คาดว่าปริมาณน้ำจะสูงถึง 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ เนื่องจากกรมชลฯได้บริหารจัดการน้ำจากภาคเหนือ จึงทำให้ปริมาณน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากขึ้น ซึ่งกรมชลฯ ก็มีแผนในการผลักดันน้ำไปยังภาคตะวันออกและบางส่วนของภาคตะวันตก ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา และอาจทำให้พื้นที่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบบางส่วน

นายสมพงษ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เฉลี่ยประมาณ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์ที่ กทม.สามารถรองรับได้ ไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ใด อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนใกล้เต็มความจุของเขื่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีแผนปัดน้ำจากเขื่อนต่างๆ เข้าแม่น้ำสายหลัก อาจทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้นด้วย แต่จากการติดตามแผนระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ ยกเว้นชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 400 กว่าครัวเรือน อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้กำชับไปยังสำนักงานเขตทั้ง 10 เขต ในพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเข้าอำนวยความสะดวกประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในนั้น สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง โดย กทม.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเป็นการติดตามชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อติดตามผลกระทบจากอิทธิผลการปล่อยน้ำและสถานการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง รวมถึงน้ำเหนือด้วย

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณน้ำฝนที่กรมอุตุฯ ประกาศเตือนฝนตกชุกหนาแน่นทั่วประเทศในระยะนี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะจะทำให้เป็นปริมาณสมทบกับน้ำเหนือและน้ำหนุน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปริมาณฝนนั้นอาจกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มากนัก ฉะนั้น ฝนที่ตกลงมาในช่วง 1-2 วันนี้ อาจทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจาก กทม.ได้มีแผนบริหารจัดการน้ำฝนปิดล้อมปริมาณน้ำทั้งหมด โดยการลำเลียงปริมาณน้ำฝนในระบบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่รอบนอก ซึ่ง กทม.ก็พยายามเร่งระบายน้ำส่วนนี้ให้แห้งเป็นปกติภายใน 1-2 ชั่วโมง หรือตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ส่วนในกรณีของน้ำเหนือและน้ำหนุนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ กทม.มั่นใจว่ารับมือได้

“ขณะนี้ กทม.ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ คือ ติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมติดต่อข้อมูลกับกรมชลฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมกระสอบทรายเรียงตามแนวป้องกันน้ำท่วมริมพระยา ตามบริเวณจุดฟันหลอ เช่น ท่าเทียบเรือ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ” นายสมพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในบริเวณเขตพระนครและรอบสนามหลวง เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เกิดน้ำรอระบายรอบบริเวณดังกล่าว นายสมพงษ์กล่าวว่า พล.ต.อ.อัศวินได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นสถานที่สำคัญ พร้อมกำชับให้ตรวจสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวังพร้อมใช้งานได้ทุกจุด รวมถึงตั้งรถสูบน้ำเคลื่อนที่ รถกำเนิดไฟฟ้า และเตรียมหน่วยเบสท์ เจ้าหน้าที่ พร้อมอุปกรณ์ประจำพื้นที่โดยรอบเพื่อสนับสนุนการทำงานด้วย

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 08.30 น. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ พล.ต.อ.อัศวิน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงเรือบริเวณท่าเรือกองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยง หรือบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อตรวจความเรียบร้อยตามแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและเยี่ยมชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์