ศบค. เบรกคำสั่ง กทม. ไม่ให้เปิด 5 กิจการ ปิดต่อ 14 วัน

breaking-news

ศบค. เบรกคำสั่ง กทม. เปิดสถานประกอบการ 5 ประเภท ให้ปิดต่อ 14 วัน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2564 วันนี้ (31 พ.ค. 2564) มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท โดยจะให้เริ่มเปิดกิจการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคนั้น

ล่าสุด ศบค. ให้ใช้ประกาศกรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

สำหรับประกาศฉบับที่ 29 เดิมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม 2564 ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564

2. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกิน เวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งปกติ ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่นได้จนถึงเวลา 23.00 น.

Advertisment

ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ การเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการที่ทางราชการกำหนด และปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564

3. กรณีนอกเหนือจากประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 กรณีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 ขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564

Advertisment

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิด ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ