“เลขาฯสพฉ.”แสดงความเสียใจ“โจ บอยสเก๊าท์”เตือนพบคนหยุดหายใจรีบปั๊มหัวใจภายใน4นาที!

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. จากเหตุการณ์ “โจ บอยสเก๊าท์” อดีตนักร้องบอยแบนด์ชื่อดังเกิดอาการวูบขณะกำลังแสดงคอนเสิร์ต ในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งนั้น ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ของโจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจเป็นภัยเงียบที่อาจนำมาสู่อาการภาวะหัวใจ หยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลา

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ในผู้ป่วยทั่วไปก่อนหัวใจจะหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะมีภาวะเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แต่สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ที่เรียกว่า Gasping breathing หรือการหายใจเฮือก ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจแบบอ้าปากพะงาบ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่ายังหายใจเป็นปกติ และทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก หรือ CPR นั้นช้าลง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยทางการแพทย์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดหน้าอกช่วยภายในเวลา 4 นาที หลังจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงจะสามารถเพิ่มโอกาสรอด แนะนำว่าขั้นตอนของการช่วยชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อพบผู้หมดสติให้ปลุกเรียก ถ้าไม่ตอบสนอง ให้สังเกตการหายใจ หากไม่หายใจหรือหายใจเป็นเฮือก หรือสงสัยว่าไม่หายใจ ให้โทร.1669 เพื่อเรียกหน่วยกู้ชีพ จากนั้นให้เริ่มกดหน้าอก โดยประสานมือตรงกึ่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลึก 5-6 เซนติเมตร กดต่อเนื่องด้วยจังหวะ 100-120 ครั้งต่อหน้าที จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการตอบสนอง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า หากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้ โดยทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ขณะรอคอยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะมาถึง ซึ่งในกรณีลักษณะเช่นนี้เรียกว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หากได้รับการนำส่งยังโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ ก็สามารถใช้บริการตามโครงการฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการช่วยชีวิตโจ บอยสเก๊าท์ ด้วยวิธี CPR ในคลิปวิดีโอ มีการพูดกันว่าอาจไม่ถูกต้องหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูคลิปวิดีโอดังกล่าว แต่ไม่อยากตำหนิเพราะทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความตั้งใจช่วยเหลือเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญหากเกิดเหตุฉุกเฉินทุกกรณี หรือในกรณีผู้ป่วยที่ล้มลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการกระตุกหรือหายใจเฮือก อาจไม่ใช่อาการชักเสมอไป เพื่อความมั่นใจให้รีบแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการช่วยชีวิตอย่างถูกต้อง โดยให้เปิดสปีกเกอร์โฟน และปฏิบัติตาม ระหว่างรอเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ฉุกเฉินเดินทางมา

Advertisment

“ขอย้ำว่าหลักการช่วยชีวิตเบื้องต้นด้วยวิธี CPR ทำได้ด้วยการปั๊มหัวใจอย่างถูกต้องตรงบริเวณกลางหน้าอกตรงราวนม กดลงไปลึกประมาณ 2 นิ้ว ด้วยความเร็วเฉลี่ย 100-120 ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องผายปอด แต่ระหว่างนั้นอย่าลืมโทร. 1669” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์