สธ. ปรับการใช้แอนติเจน เทสต์ คิท “ผลบวก” จัดเป็นกลุ่มสงสัยว่าป่วย

แอนติเจน

กระทรวงสาธารณสุข แจ้งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ปรับข้อสั่งการการตรวจโควิดด้วย แอนติเจน เทสต์ คิท หากผลเป็นบวกให้ถือเป็น “กลุ่มสงสัยว่าจะป่วย”

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ตนเกิดข้อสงสัยว่าการรายงานยอดผู้ติดเชื้อในวันนี้ (28 ก.ค.) กว่า 16,000 ราย อาจจะไม่ใช่ยอดผู้ติดเชื้อที่แท้จริง

เนื่องจากยังมีผู้ป่วยที่ตรวจหาจาก Antigen test kit แล้วผลเป็นบวก แต่ในเอกสารบันทึกข้อความ ส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ถึงนโยบายการบริหารจัดการที่ได้ขอให้หน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในข้อ 5 ระบุว่าผู้ที่ใช้วิธีการตรวจดังกล่าว ยังไม่นับว่าเป็นผู้ติดเชื้อ

ล่าสุด มติชนรายงานว่า นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการออกหนังสือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ระบุว่า โดยหลักการที่มีคำสั่งดังกล่าว สืบเนื่องจากก่อนหน้านั้น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องทำด้วยวิธี RT-PCR ใช้เวลารอผลค่อนข้างนาน ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างล่าช้า

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น จึงมีนโยบายให้ตรวจแบบแอนติเจน เทสต์ คิท หรือเอทีเค (ATK) มาช่วย ถ้าผลบวกก็ให้พิจารณาทำโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) ได้เลย แต่บางกรณีไม่ใช่รักษาที่บ้านได้ อาจต้องรักษาในชุมชนหรือโรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มนี้ต้องมีการยืนยันด้วยวิธีการทำอาร์ที-พีซีอาร์ โดยจะเรียกว่า Probable case หรือกลุ่มสงสัยว่าจะเป็น/ป่วย แต่อาจจะไม่ได้ป่วยก็ได้

ดังนั้น จะมีการแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มสงสัยว่าจะเป็น/ป่วย คือ Probable case ส่วนอีกกลุ่มที่ต้องทำอาร์ที-พีซีอาร์และผลเป็นบวก จะเรียกว่า Confirm case หรือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน วันนี้ (28 ก.ค.64) ได้ลงนามประกาศแจ้งไปยังผู้ตรวจราชการ สธ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) แล้ว

สำหรับหนังสือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงข้อสั่งการที่ชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงข้อสั่งการข้อ 5 ให้ยกเลิกการทำ Active Case Finding (ACF) โดยการทำ RT-PCR และให้ใช้ Antigen test self-test Kits แทนในการคัดกรองเบื้องต้น

โดยกรณีที่ผู้ป่วยพบผลเป็นบวกจะเป็นกลุ่ม Probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติตามที่กรมวิชาการกำหนด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขอยกเลิกคำสั่งข้อ 5 ตามข้อสั่งการข้างต้น และให้ใช้ข้อความแทน ดังนี้

ข้อ 5 การดำเนินการ Active Case Finding (ACF) ให้ดำเนินการดังนี้

  • 5.1 ปรับให้ใช้ Antigen test Kit (ATK) เข้ามาใช้เสริมหรือแทน RT-PCR ในกรณีที่มีข้อจำกัด
  • 5.2 กรณี Antigen test Kit (ATK) ให้ผลบวกให้รายงานเป็น Probable case ตามระบบรายงานที่กำหนด และหากเคสดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานผู้ป่วยยืนยันเป็น confirmed case ต่อไป