“คมนาคม-สาธารณสุข” ส่งผู้ป่วยกลับ 7 จังหวัดอีสานล่างแล้ว 2,824 ราย

“คมนาคม-สาธารณสุข” สรุปตัวเลขส่งคนกลับบ้าน 7 จังหวัดอีสานล่างแล้ว 2,824 ราย “อุบล” คว้าแชมป์กลับมากสุด 778 ราย “อำนาจเจริญ”กลับน้อยสุด 28 คน จ่อประสานทุกหน่วยผุดฟีดเดอร์รับคนจากบ้านมาส่งสถานีหลัก เพื่แขนส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานการดำเนินงานจัดส่งผู้ป่วยกลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนา

และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับผิดชอบการประสานและบริหารการจัดส่งผู้ป่วย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร บวกกับนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบการประสาน การบริหารจัดการจัดส่งผู้ป่วยจังหวัดนครราชสีมา นั้น

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วย โควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง” (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 15.๐๐ น. ด้วย Application “Zoom”

Advertisment

การประชุมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานการอำนวยความสะดวก   การเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 โดยมี การดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา คือ การส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 โดยเริ่มจากสถานีรถไฟรังสิตไปยังปลายทางที่ จังหวัดอุบลราชธานี  โดยใช้ขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิดมีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบิน 

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำรถบัสโดยสารของ บขส. ในการรับส่งผู้ป่วยจากกรมการขนส่งทหารบก (บางเขน) ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 2 และ 4 ส.ค. 2564 โดยได้ปรับปรุงรถโดยสาร และกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องโดยสาร การปรับระบบปรับอากาศบนรถ นำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง 

รวมทั้งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการรับผู้ป่วยจากจังหวัดนนทบุรี ไปส่งที่ศูนย์ขนส่งทหารบก บางเขน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 และได้มีการสนธิกำลังกับหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยให้สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

ส่งกลับบ้านรักษาต่อแล้ว 2,824 ราย

ทั้งนี้ ภาพรวมของการรับ – ส่งผู้ป่วยกลับไปยังพื้นที่ภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด มียอดสะสม ณ วันที่ 5 ส.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 2,824ราย โดยมีผลการดำเนินการรายจังหวัด ดังนี้

Advertisment

“อุบล” กลับมากสุด 778 คน “อำนาจ” น้อยสุด /28 คน

1.นครราชสีมา รวม 404 คน

-จัดหารถ อบจ. รถมูลนิธิ รถโรงพยาบาลเพื่อไปรับผู้ป่วยจากจังหวัดต้นทางกลับจ.นครราชสีมา (ไม่รวมผู้เดินทางกลับด้วยรถส่วนตัว)

-มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก (Door-to-Door)

2. บุรีรัมย์ รวม 458 คน

-รับจาก 1330  และจากโครงการ“อุ้มลูกหลานกลับบ้าน”   (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

-จัดหารถมูลนิธิ รถพยาบาลทหาร  เพื่อรับ-ส่ง ผู้ป่วยกลับจังหวัดบุรีรัมย์ จากจังหวัดต้นทาง

-มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก (Door-to-Door)

3.สุรินทร์ รวม 395 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

-จัดหารถของ มทบ. 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน และกองกำลังสุรสี รถของมูลนิธิ กลับจังหวัด

-ใช้รถของ อปท ในการรับผู้ป่วยไปส่งยัง CI-รพ สนาม หรือ รพ อำเภอ

4.ศรีสะเกษรวม 211 ราย (ไม่รวมผู้เดินทางด้วย รถส่วนตัว)

-ใช้รถบัสโดยสารรับผู้ป่วย โดยระดมทุนจากจิตอาสาบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมารถบัสรับผู้ป่วยเดินทางภายใต้โครงการ “ศรีสะเกษไม่ทิ้งกัน” “รับพี่น้องกลับศรีสะเกษ” รวมทั้งจากภาคส่วนอื่นๆ

-ใช้รถตู้จาก สขจ.ศก. รถพยาบาล รถทหาร ดำเนินการรับ-ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่

5.อุบลราชธานีรวม 778 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

-ขนส่งผู้ป่วยจาก กทม. ไปยังจังหวัด โดยรถไฟ 1 ขบวน และรถบัสจำนวน 19  รถตู้ 5 คัน จากการจัดหาของทางจังหวัด

-จังหวัดจัดหารถ ทหาร มทบ.ที่ 22, รถพยาบาลของอำเภอต่างๆ, รถมูลนิธิสว่างบูชาธรรม ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนามแต่ละอำเภอ, ศูนย์ CI และ HI ของอำเภอต่างๆ

6.ยโสธรรวม 550 คน(ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

-มูลนิธิมูลนิธิฮุก 31 และ ฮุกเพชรเกษม จัดหารถบัส 1 คัน รถตู้ 4 คัน  และรถกระบะ 1 คัน เพื่อรับ-ส่ง ผู้ป่วยจากจังหวัดต้นทางกลับภูมิลำเนา

-มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก  (Door-to-Door)

และ 7.อำนาจเจริญ รวม 28 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

-ขนส่งผู้ป่วยจาก กทม.ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ โดยรถบัส จำนวน 3 คัน 

-รับ-ส่ง ผู้ป่วยไปยัง รพ.สนามแต่ละอำเภอด้วยรถพยาบาล จำนวน 22 คัน และ รถกู้ชีพ อบต. 35 แห่ง

  

เล็งเคาะฟีดเดอร์รับคนที่บ้านมาศูนย์ขนส่งหลัก

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) และหน่วยงานสาธารณสุข (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) เพื่อรับผู้ป่วยออกจากต้นทาง (บ้านผู้ป่วย) ไปยังศูนย์การขนส่งผู้ป่วย (สถานีรถไฟรังสิต/จุดจอดรถบัสโดยสาร บขส. หรือ ศูนย์การขนส่งทหารบก บางเขน) เพื่อเตรียมจำนวนรถและบริหารจัดการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่จะเดินทางโดยรถไฟหรือรถบัสโดยสารแต่ละเที่ยว ในรูปแบบของ Feeder ก่อนที่ส่งผู้ป่วยขึ้นรถบัสโดยสารหรือรถไฟไปยังจังหวัดปลายทางต่อไป 

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1. ให้กำหนดการเดินทางโดยยานพาหนะที่เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่จะเดินทาง โดยให้ บขส. จัดเตรียมรถบัสโดยสาร และ ขบ. ดำเนินการช่วย สพฉ. ในการจัดหารถสองแถว หรือรถสามล้อที่มีการปรับแต่งซีลกั้นตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยให้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัด และ สพฉ. 

สำหรับงบประมาณในการลำเลียงผู้ป่วยข้างต้น ให้ดำเนินการตามแนวทาง หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของ สพฉ. รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาการหาแหล่งงบประมาณหรือกองทุนมาใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

2. การรวบรวมตัวเลขผู้ป่วยเดินทางสะสม ขอให้จังหวัดจัดส่งข้อมูลให้ สปสช. เพื่อรวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลของผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมดในแต่ละจังหวัด

3. ให้ สพฉ. และกระทรวงคมนาคม บูรณาการในการกำหนดจุดรับ-ส่ง ผู้ป่วยให้มีความชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับส่งในที่ที่มีประชาชนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง

4. ให้ทุกจังหวัดสรุปจำนวนเตียงว่างของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอยของแต่ละจังหวัดเข้ามาใน Group Line เพื่อให้ สพฉ. ใช้ประกอบการวางแผนการจัดส่งผู้ป่วยกลับภุมิลำเนา

5. การดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนา ขอให้ใช้แนวทางการอำนวยความสะดวก การเดินทางของผู้ป่วยที่ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัดที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้าพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ ตามภารกิจที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ว่าจะสามารถเดินทางกลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างทันท่วงที และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน ที่ได้รับเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19