“โมลนูพิราเวียร์” เทียบ “ฟาวิพิราเวียร์” ไทยจ่อนำเข้ารักษาผู้ป่วยโควิด

โมลนูพิราเวียร์
PHOTO : Handout / Merck & Co,Inc. / AFP

ทำความรู้จัก “โมลนูพิราเวียร์” ยาที่นำมาใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ชนิดใหม่ เทียบกับ “ฟาวิพิราเวียร์” 

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ยาชนิดใหม่ ที่มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ใกล้เคียง “ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)” ที่ไทยได้นำมาใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการขึ้นไป

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ รวมทั้งแผนการนำมาใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับยาชนิดดังกล่าว

รู้จัก ยา “โมลนูพิราเวียร์”

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า ยา โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษาพบว่า มีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น ซาร์ เมอร์ส และโควิด-19

ปัจจุบัน โมลนูพิราเวียร์ มีสถานะเป็นยาต้านไวรัสทดลอง อยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้การรับรองขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration)

หลังจากนี้ หากผลการศึกษาพบว่า ยามีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการเสียชีวิตมีโอกาสได้รับการรับรองให้ใช้เป็นยาฉุกเฉินสำหรับการรักษาโรคโควิด-19

ส่วนแนวทางการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ จะสามารถใช้ได้เหมือนกันกับยาฟาวิพิราเวียร์ จากการเปิดผยของ อ.ภญ.โชติรัตน์ นครานุรักษ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสวนาหัวข้อ การกระจายวัคซีนระบบสิทธิบัตร “เอื้อ” หรือ “ขัดขวาง” การเข้าถึงยา : กรณียาฟาวิพิราเวียร์ จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และเครือข่าย

กรมการแพทย์ พร้อมจอง “โมลนูพิราเวียร์”

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ (11 ส.ค. 64) เปิดเผยผ่านการประชุมออนไลน์ ถึงแนวทางเวชปฏิบัติโควิด-19 ล่าสุด ฉบับที่ 17 ถึงการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทยว่า เริ่มมีการพูดคุยกับบริษัทที่ผลิตยาดังกล่าว หลังจากทางบริษัทผู้ผลิต เริ่มส่งสัญญาณแผนการผลิต และส่งออกไปประเทศต่าง ๆ

ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้หารือกับรัฐบาลไว้ว่า หากจำเป็นต้องใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ก็อาจจะต้องทำการจองเพื่อมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดในไทย แต่อย่างไรต้องรอผลการศึกษาในระยะที่ 3 ก่อน

แผนสำรอง “ฟาวิพิราเวียร์” 300 ล้านเม็ด

ขณะที่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่นำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยขณะนี้ ทางองค์การเภสัชกรรม ได้เร่งปรับแผนการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการปรับเกณฑ์แนวทางการรักษาใหม่โดยหารจ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิดเร็วขึ้น

โดยในเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมียาฟาวิพิราเวียร์สำรองสูงถึง 120 ล้านเม็ด ส่วนเดือนตุลาคม-ธันวาคม ได้เพิ่มการสำรองเฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านเม็ด รวมทั้งสิ้น 300 ล้านเม็ด

เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผย แนวทางใหม่ในการใช้ฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากการประกาศของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 4 ข้อ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะส่วนมากหายเองได้ และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วม แพทย์จะพิจารณาให้ยาโดยเร็ว แต่หากตรวจพบเชื้อเกิน 7 วัน อาจไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะผู้ป่วยน่าจะหายเองได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วม ให้ยานาน 5 วันหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอาการ
  4. ผู้ป่วยที่มีปอดบวมหรือมีภาวะลดลงของระดับออกซิเจนในเลือด ให้ยาเป็นเวลา 5-10 วันขึ้นอยู่กับอาการ

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ (ฟาเวียร์) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป