Vaccine Hesitancy: ปฏิเสธรับวัคซีน ภัยคุกคามท็อป 10

วัคซีน
Jack TAYLOR / AFP

การรายงานข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ประชาชนเกิดความลังเล เป็นอุปสรรคของเป้าหมายเพิ่มจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นทั่วโลก 

ความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จนนำไปสู่ความลังเลและปฏิเสธรับการฉีดวัคซีน หรือเรียกว่า Vaccine Hesitancy เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุให้ปัจจัยดังกล่าว เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามระดับโลกทางสาธารณสุข

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านทำความเข้าใจ Vaccine Hesitancy หรือความลังเลต่อวัคซีนโควิด-19 และแนวทางการจัดการให้คนยอมรับวัคซีนมากขึ้น

Vaccine Hesitancy  คืออะไร

องค์การอนามัยโลก อธิบาย Vaccine Hesitancy ไว้ 3 ข้อดังนี้

  • การตอบรับการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า หรือปฏิเสธการฉีดวัคซีน ถึงแม้จะมีความพร้อมในการให้บริการมากเพียงใดก็ตาม
  • ความซับซ้อนและบริบทที่หลากหลาย ตามเวลา สถานที่และชนิดวัคซีนที่จะได้รับการฉีด
  • การได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจ ความสะดวก และความมั่นใจในวัคซีน

Advertisment

WHO จัด “การปฏิเสธวัคซีน” เป็นภัยคุกคาม

ในปี 2562 องค์การอนามัยโลกได้รายงาน 10 ปัญหาคุกคามสาธารณสุขโลก โดยหนึ่งในปัญหาคุกคามดังกล่าวคือ การลังเลและปฏิเสธวัคซีน (Vaccine Hesitancy)

เนื่องจากวัคซีนช่วยป้องกันโรคภัยต่าง ๆ หลีกเสี่ยงสาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์ได้มากถึง 2-3 ล้านคนในแต่ละปีและอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านคน หากวัคซีนในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ล้ำหน้า มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี การลังเลและปฏิเสธที่จะรับวัคซีนในสังคมยุคใหม่กลับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งยังมีหลากหลายเหตุผล เช่น ความนิ่งนอนใจ การเพิกเฉยของผู้คนหรือไม่มั่นใจในความสามารถและประสิทธิภาพในระบบสาธารณสุขในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ เป็นต้น

ผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อวัคซีน

สำนักข่าวบีบีซี เผยแพร่ผลการสำรวจความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนของประชากร 140,000 คน จาก 142 ประเทศ โดย เวลคัม ทรัสต์ องค์กรการกุศลที่ทำงานด้านชีวการแพทย์ของอังกฤษ

Advertisment

ผลสำรวจพบว่าคนจำนวนมากไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องวัคซีนเลย โดยปริมาณความคิดเห็นต่อความปลอดภัยของวัคซีนมีดังนี้

  • 79% (8 ใน 10) เห็นว่า “ค่อนข้างปลอดภัย” หรือ “เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าปลอดภัย”
  • 7% เห็นว่า “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วยเลยว่าปลอดภัย”
  • 14% ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือ “ไม่รู้”

ส่วนเมื่อถามว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่

  • 84% เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วย
  • 5% ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างไม่เห็นด้วย
  • 12% ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือ “ไม่รู้”

5 ปัจจัยลังเลใจรับวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุไทย

ขณะที่การสำรวจในประเทศไทย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อนุมัติโครงการวิจัยเกี่ยวกับความลังเลของวัคซีนในคลินิกผู้สูงอายุผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยดังกล่าวได้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุ 282 ราย มีอายุ 60-93 ปี พบว่า 44.3% ลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความลังเลใจของวัคซีนสูงนั้น ได้แก่

  • การศึกษาระดับต่ำกว่าเกณฑ์
  • การขาดความมั่นใจในความสามารถของระบบการดูแลสุขภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
  • ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19
  • การเสนอวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตที่ไม่คาดคิด
  • จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ต่ำต่อวัน

ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวจะช่วยในการส่งเสริมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุของประเทศไทย

เปิดหลัก 3As สร้างแรงจูงใจให้ยอมรับวัคซีนโควิด-19

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (3 พ.ย.) เผยแนวทางการจัดการเพื่อให้ประชาชนยอมรับในวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มประชาชนที่กำลังลังเล โดยใช้หลัก 3As : Ask Affirm Advice ดังนี้

1.ถามเป็นคือ ใช้คำถามปลายเปิดว่า รู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงเรื่องอะไร

2.ชมเป็นคือ นำคำตอบมาชื่นชม เช่น การเป็นห่วงสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ดี

3.แนะเป็นคือ ให้คำแนะนำตรงกับสิ่งที่เป็นห่วง เช่น กลัวอาการข้างเคียงรุนแรง ให้แนะนำว่า มีการดูแลหลังฉีดวัคซีน และผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่พบอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อความลังเลใจลดลงแล้ว ควรรีบให้วัคซีนโดยเร็วที่สุด แต่สำหรับกลุ่มที่มีการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ให้พยายามสอบถามและรับฟังข้อมูล จากนั้นอาจส่งบุคลากรด้านสุขภาพจิตเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ยอดฉีดวัคซีน 77 ล้านโดส

การรายงานตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (2 พ.ย.) มีประชากรไทยได้รับวัคซีนทั้งสิ้น 77,014,092 โดส ประกอบด้วย

  • เข็มที่ 1 : สะสม 42,815,600 โดส
  • เข็มที่ 2 : สะสม 31,730,365 โดส
  • เข็มที่ 3 : สะสม 2,468,127 โดส