ศบค.พบคลัสเตอร์ตลาดกระจาย 11 จังหวัด กทม.หนักสุดติดเชื้อ 310 คน

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เผยคลัสเตอร์ใหม่โผล่หลายจังหวัด ทั้งโรงงาน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง งานกฐิน งานศพ เรือนจำ ระบุเป็นคลัสเตอร์ตลาดหนักพบถึง 11 จังหวัด กทม.มากสุดพบติดเชื้อมากสุด 310 ราย พร้อมจับตาจังหวัดที่ยอดป่วยเพิ่มอีกหลายจังหวัด ขณะที่เปิดประเทศ 9 วัน ต่างชาติเข้าไทย 2.8 หมื่นคน พบติดโควิดแล้ว 29 คน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศประจำว่า สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศวันนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 6,978 ราย หายป่วยแล้ว 1,845,758 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,960,610 ราย และ เสียชีวิตสะสม 19,732 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,873,184 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,989,473 ราย และ เสียชีวิตสะสม 19,826 ราย

สำหรับผู้รักษาตัววันนี้ 96,463 คน อยู่ใน รพ. 41,559 คน อยู่ใน รพ.สนาม 54,904 คน มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,877 คน ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 423 คน

สิงคโปร์จ่อยกเลิกไม่จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโควิดที่ไม่ฉีดวัคซีน

ส่วนผู้ขอรับวัคซีน ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 239,164 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 520,475 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 32,616 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 9 พฤศจิกายน 2564มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 81,761,062 โดส

เฉพาะเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 44.35 ล้านราย คิดเป็น 61.6% ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 34.76 ล้านคน คิดเป็น 48.3% และเข็มที่ 3 จำนวน 2.64 ล้านคน คิดเป็น 3.7% ของจำนวนประชากร

มีประเด็นที่น่าสนใจจากประเทศสิงคโปร์ โดยเตรียมยกเลิกดูแลค่ารักษาให้ผู้ป่วยโควิดที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ออกมาแถลงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ได้รับผิดชอลค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรณที่มีการติดเชื้อโควิด ทั้งนี้ในสิงคโปร์มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 85% เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าแม้ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ยังคงมี โอกาสที่ยังติดเชื้อได้อีก ในส่วนนี้รัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายให้

แต่อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน หากป่วยและต้องเข้ารับการรักษา บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เอง ยกเว้นกลุ่มที่มีการพิสูจน์ทางการแพทยืแล้วว่า ม่สามารถรับวัคซีนได้ หรือเป็นกลุ่มเด้กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี

คลัสเตอร์ตลาดโผล่หลายจังหวัด

วันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ที่รายงานเข้ามา พบว่าจากโรงานและสถานประกอบการมีหลายจังหวัด เช่น กทม. 78 ราย เพชรบุรี 42 ราย ปราจีนบุรี 21 ราย ราชบุรี 18 ราย เชียงใหม่ 8 ราย สระแก้ว 3 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย

“ส่วนคลัสเตอร์ตลาด ยังคงพบอยู่ โดยพบที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) 310 ราย เชียงใหม่ 53 ราย ชลบุรี 29 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 13 ราย สระแก้ว 11 ราย กาญจนบุรี 5 ราย นอกจากนี้ยังเจอที่สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ นครสวรรค์ และขอนแก่น” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคลัสเตอร์ตลาดที่ศบค.รายงานวันนี้มีมากถึง 11 จังหวัด

สำหรับคลัสเตอร์ที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา โดยติดจากงานบวชและทอดกฐิน วันนี้มีรายงานมา 2 จังหวัดคือที่ยโสธร 4 ราย และร้อยเอ็ดอีก 2 ราย

คลัสเตอร์งานศพเจอที่พะเยา 35 ราย สระแก้ว 6 ราย เชียงใหม่ 5 ราย ขอนแก่น 3 ราย และสุราษฎร์ธานีอีก 2 ราย

นอกจากนี้ยังมีแคมป์คนงานยังเจอเรื่อย ๆ เช่นวันนี้เจอที่เชียงใหม่ 12 ราย สุราษฎร์ธานี 8 ราย ลำพูน 6 ราย อุทัยธานี 5 ราย และยังพบที่ประจวบคีรีขันธ์กับที่กาญจนบุรีด้วย

ส่วนคลัสเตอร์ในเรือนจำวันนี้พบที่นครราชสีมามากที่สุด 161 ราย กทม. 92 ราย นอกนั้นพบที่ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สุพรรณบุรี

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า ในส่วนของทิศทางแนวโน้มในภาพรวมของประเทศยังมีทิศทางที่ลดลงชัดเจน โดย 67 จังหวัด วันนี้มีสัดส่วน 62% ชายแดนใต้ 18% กทม.และปริมณฑล 20%

ขณะที่เมื่อดูทิศทางผู้ติดเชื้อตามรายภาค ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ลดลง มีที่ต้องเฝ้ระวังจากการติดเชื้อในหลักหน่วยและหลัก 10 รวม 2 จังหวัด คือสิงห์บุรีและชัยนาท เช่นเดียวกับภาคตะวันออก จังหวัดส่วนใหญ่มีทิศทางที่ลดลงเช่นกัน โดยจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อลดลง ทรง ๆ ตัวมีที่ปราจีนบุรีและสระแก้ว

ส่วนภาคตะวันตก จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคือ “ประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งทิศทางยังไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยจังหวัดที่ยังทรง ๆ คือสุราษฎร์ธานี และพัทลุง ในขณะที่ นครศรีธรรมราช ยอดติดเชื้อลดลงจากระดับสูงสุดมาแล้ว แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวังกันต่อไป

ส่วนจังหวัดชายแดนใต้ยังต้องเฝ้าระวังจับตาที่จังหวัดสงขลา และปัตตานี จะเห็นได้ว่า เส้นกราฟยังคงที่ ไม่ได้ลดลงมาก ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดที่มีแนวดน้มลดลงชีดเจนคือระนอง และภูเก็ต ในขณะที่ตรัง สตูล พังงา และกระบี่ยังคงมีทิศทางแนวโน้มทรงตัวมีรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ในหลักสิบ

สำหรับภาคเหนือตอนบน จงหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง และยังลดลงไม่ชัดเจน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย ส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนล่างจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคือจังหวัดพิษณุโลก

ส่วนภาคอีสาน ทั้งภาคอีสานตอนบนและตอนล่างส่วนใหญ่เกือบทุกจังวัดมีทิศทางที่ลดลง

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ภาคใต้ยังครองแชมป์

10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็นกทม. จำนวน 864 ราย อันดับ 2 สงขลา 479 ราย เชียงใหม่ 380 ราย ปัตตานี 356 ราย สมุทรปราการ 233 รย นครศรีธรรมราช 224 ราย ชลบุรี 203 ราย ยะลา 202 ราย นราธิวาส 192 ราย สุราษฎร์ธานี 183 ราย

“อันดับ 2,4,6,8,9 เป็นจังหวัดอยู่ทางภาคใต้ เชียงใหม่อยู่อันดับ 3 สมุทรปราการอันดับ 5 ชลบุรี อันดับ 7 และอันดับ10 ตือสุราษฎร์ธานี” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

ส่วนผู้เสียชีวิตจำนวน 62 รายในวันนี้ เป็นชาย 29 ราย หญิง 33 ราย สัดส่วน 91% ยังอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว และวันนี้พบเด็กเสียชีวิต 2 ราย อายุ 9 ปีอยู่จ.สงขลา อีกรายอายุ 13 ปี อยู่จ.ตาย พบประวัติไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ขณะที่เมื่อแยกตามจังหวัดพบว่าผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ในกทม. 5 คน สมุทรปราการ 3 คนแต่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคใต้จำนวน 23 คน โดยสงขลาและนครศรีธรรมราชมีผู้เสียชีวิตมากสุดจังหวัดละ 5 คน ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางมีผู้เสียชีวิตรวมกัน 16 คน (ตามตาราง)

เปิดประเทศ 9 วัน พบต่างชาติติดโควิด 29 คน

สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศจากทุกสนามบิน วานนี้ (9 พ.ย.)มีจำนวน 2,779 คน เดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1,894 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 807 คน ท่าอากาศยานสุมย 78 คน โดยเข้ามาในรูปแบบ Test & Go จำนวน 2,114 คน แซนด์บ็อกซ์ 530 คน แบบกักกัน 135 คน โดยแยกเป็นกักตัว 7 วัน 58 คน และกักตัว 10 วัน อีก 77 คน

“จากผู้ที่เดินทางเข้ามา 2,779 คน พบผู้ติดเชื้อ 3 คน แต่ถ้ามาดูยอดสะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. เป็นต้นมา มีผู้เดินทางเข้ามาทั้งสิ้น 28,021 คน พบผู้ติดเชื้อสะสม 29 รวม คิดเป็น 0.1% ของผู้ที่เดินทางเข้ามาทั้งหมด ซึ่งยังถือว่าพบผู้ติดเชื้อต่ำ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่มาในรูปแบบไม่กักกัน หรือ Test & Go รองลงมาเป็นแซนด์บ็อกซ์ และแบบที่ต้องกักกัน โดยอัตราการติดเชื้อจะพบมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาแบบกักตัว และต่ำสุดมาเป็นแบบ Test & Go

“มีผลการศึกษาก่อนหน้านี้จากโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ( HITAP) มีการศึกษาวิเคราะหืกรณีศึกษาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ พบว่ายิ่งระยะเวลากักตัวนาน จะทำให้มีความต้องการในการเดินทางที่ลดลง ”

ทั้งนี้จากการที่มีการวางมาตรการเพิ่อเพิ่มความปลอดภัย ให้กับคนในประเทศ โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนเข้าประเทศเพื่อแยกกลุ่มนักเดินทาง อีกทั้งยังมีระบบการคัดกรอง และหลังจากเปิดประเทศมา 10 วันแล้วพบอัตราการติดเชื้อยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ล่าสุดวันนี้อยู่แค่ 0.1% และยังมีการจัดระบบรองรับในทุก ๆ ด้านทั้งโรงแรม สถานประกอบการ ต่าง ๆ

ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า 17 จังหวัด ค่าเฉลี่ยผลการฉีดล่าสุดอยู่ที่ 82.2% ของประชากรแล้ว ยังเหลือหนองคายจังหวัดเดียวที่ตอนนี้อยู่ที่ 49.2% ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวตอนนี้เข็มที่ 1 ฉีดครอบคลุมไปแล้ว 78% และครบ 2 เข็มอยู่ที่ 66%

“ขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีนในทุกพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าผู้ที่มีฉีดเป็นคนที่อยู่ในอำเภอเมือง ก็ขอให้เพิ่มลงไปในอำเภอต่าง ๆ ตำบล หมู่บ้าน หรือชุมชน มีการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตวิถีใหม่โดยไว และไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย