มาฆบูชา 2565 : ถอดรหัส โอวาทปาฏิโมกข์ ตามทัศนะ 5 พระเถระ 

พระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์สวนพุทธชยันตี 2,600 ปี จ.นครนายก ภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ถอดรหัสคำสอนหลักวันมาฆบูชา “โอวาทปาฏิโมกข์” ตามทัศนะ 5 พระเถระ 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันมาฆบูชาของทุกปี ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ตามามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งในปีนี้ (2565) ตรงกับวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ ในวันดังกล่าวนอกจากจะสำคัญด้วยเป็นวันที่เกิด “จาตุรงคสันนิบาต” คือ

  1. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
  2. พระภิกษุทั้ง 1,250 รูปนั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
  4. พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ด้วยพระองค์เอง

ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งตามพระไตรปิEกเล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 2 (ฉบับมหาจุฬาฯ) ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ 50-51 ระบุว่า ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ ที่กรุงพันธุมดีราชธานีนั้น ดังนี้

ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

มุมมอง “โอวาทปาฏิโมกข์” ของ 5 พระเถระ

นอกจากนี้ ตามวิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ของนายนายเจษฎากรณ์ รอดภัย ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากหลัก 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังมีทัศนะของพระเถระรูปสำคัญของไทยที่ตีความหลัก โอวาทปาฏิโมกข์ แตกต่างกันไป ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์

1.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตีความคำสอนว่า ทรงมุ่งให้พุทธบริษัทประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนโอวาทปาฏิโมกข์ โดยยึดหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และเน้นการทําจิตของตนให้ผ่องใส เน้นปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อความบริสุทธิ์ผ่องใส บรรลุเป้าหมายสูงสุด
คือ พระนิพพาน

พุทธทาสภิกขุ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ

2.พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) พุทธทาสภิกขุ ตีความคำสอนว่า เน้นย้ำการปฏิบัติบูชาให้เข้าถึงความ “ว่าง” ที่เรียกว่า “สูญญตา” มองประเด็นพระคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ที่เป็นใจความสำคัญ คือ การไม่ทำชั่ว การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ขาวรอบ ต้องการอะไร ปรารถนาอะไร ตามที่ใจปรารถนาต้องการที่สุดแล้ว เมื่อได้มาแล้ว อย่าไปหลง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น คือ หัวใจพระพุทธศาสนา จิตจะขาวรอบเป็นปริโยทปนะ (ผ่องใส)

ปัญญานันทภิกขุ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ

3.พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) ปัญญานันทภิกขุ ตีความคำสอนว่า เป็นการให้ชาวพุทธปฏิบัติต่อพระรัตนตรัยด้วยการแสดงความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงวันสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เน้นการปฏิบัติบูชา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก วัดญาณเวศกวัน

4.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ตีความคำสอนว่า เป็นคำสอนที่เป็นองค์รวม และถือเป็น 1 ในคำสอนที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา สามารถนํามากล่าวในแง่มุมต่าง ๆ เมื่อเกิดความเข้าใจสามารถโยงถึงกันได้กับหกลักคำสอนอื่น และทุกประเด็นเป็นหลักที่ชัดเจน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะจับจุดไหน ก็โยงถึงกันได้ทั้งนั้น

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก คติธรรม วาทะธรรม พระพรหมบัณฑิต

และ 5.พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ตีความคำสอนดังกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องขันติความอดทน เราต้องอยู่ร่วมกันด้วยขันติธรรม เพื่อสันติภาพ มองด้านสันติภาพ โลกจักเกิดมีขึ้นได้ด้วย ให้หลักโอวาทปาฏิโมกข์กล่อมเกลาจิตใจของคนทั้งโลกเพื่อสันติภาพ นําหลักโอวาทปาฏิโมกข์ โดยเฉพาะพระคาถาที่ 1 เน้นการปกครองและพัฒนาการศึกษา

นักบวชในพุทธศาสนาต่างนิกายที่กระจายอยู่ทั่วโลกต้องยึดขันติธรรม และเน้นความอดทนประเภทตีติกขาขันติ สามารถให้เข้าถึงพระนิพพานได้