รู้จัก “บางกอก” ก่อนจะเป็นกรุงเทพมหานครในทุกวันนี้

รู้จัก

พาย้อนอดีต ทำความรู้จัก “บางกอก” ก่อนจะเป็นกรุงเทพมหานครในทุกวันนี้

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี ราชบัณฑิตยสภา ประกาศเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของประเทศไทย “กรุงเทพมหานคร” จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยให้เก็บชื่อเดิม Bangkok ไว้ในวงเล็บ (Bangkok) ก่อนออกโรงแจงในเวลาต่อมาว่าใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อ หลังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านย้อนดูประวัติของกรุงเทพมหานครในอดีต ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า “บางกอก”

ที่ตั้งทำเลทอง

พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ซึ่งชาวต่างชาติเรียกกันว่า “บางกอก” มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองหน้าด่านขนอน ที่คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม” มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง อ้างอิงจากวิกิพีเดีย

ที่มาของบางกอก

คำว่า “บางกอก” นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” หรืออาจเป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า “บางมะกอก” โดยคำว่า “บางมะกอก” มาจากวัดอรุณฯ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก

ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 หลังการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2313 ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในวันที่ 6 เมษายน 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และมีพระราชดำริว่า

ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อพระนครจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น จังหวัดพระนคร

เจริญกรุง ถนนเส้นแรกของกรุงเทพฯ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่ขึ้น ทรงดำริให้ตัดถนนเจริญกรุง เป็นถนนเส้นแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2404 และเปลี่ยนรูปแบบผังเมืองกรุงเทพมหานครเฉกเช่นอารยประเทศ เพราะในสมัยนั้นสยามประเทศถูกคุกคามจากมหาอำนาจยุโรป และตรงจุดนี้เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่มหาอำนาจนำมาใช้เพื่อแทรกแซงและคุกคามสยามประเทศ

แต่ในภายหลัง ต่างชาติยุโรปเองได้ยอมรับกรุงเทพมหานครว่า เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผังเมืองงดงามที่สุดในโลกในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในที่สุด ภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม  2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ