ศักดิ์สยามหารือส่งเสริมการค้าฯ ญี่ปุ่น – หอการค้าญี่ปุ่น หนุนการลงทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบเพื่อร่วมหารือพัฒนาแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการภาคธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ให้ Mr.Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และ Mr. Takeo Kato ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) พร้อมคณะผู้บริหาร JCCB เข้าพบ เพื่ออำลาในโอกาสที่ Mr.Atsushi Taketani จะพ้นจากหน้าที่และร่วมหารือพัฒนาแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการภาคธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า JETRO Bangkok และ JCCB ได้รายงานผลสำรวจความเห็นของเอกชนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย พร้อมเสนอข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย มีประเด็นความสนใจของภาคเอกชน เช่น การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมโดยได้นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย

ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ทางถนน ทางระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ การพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมือง โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ – ขอนแก่น และช่วงมาบกะเบา – จิระ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลัก การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – หนองคาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือระนอง ระยะที่ 2 การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

Advertisment

การพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (MR – Map) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง (Land Bridge) และได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน

ซึ่ง คค. พร้อมเดินหน้าโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน และเร่งพัฒนาความร่วมมือส่งเสริมในทุกด้านโดยเฉพาะโลจิสติกส์ และการเชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน