กทม. ชี้ นักเรียน 1.26 แสนคน ขาดแคลน ส.วินาศภัย บริจาคหมวกกันน็อก

กรุงเทพมหานคร รับมอบหมวกนิรภัยสำหรับนักเรียนจากสมาคมประกันวินาศภัย เมื่อผลิตแล้วเสร็จจะนำมาทยอยแจก

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัย และประธานกรรมการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เพื่อหารือความร่วมมือสนับสนุนหมวกนิรภัยสำหรับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการศึกษา สำนักสิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การหารือในวันนี้มีจุดเริ่ม ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรกมีกลุ่มคนพิการมายื่นข้อเสนอให้ช่วยดูแลเกี่ยวกับเรื่องหมวกกันน็อกให้แก่เด็กนักเรียนเนื่องจากปัจจุบันเด็กนักเรียนกทม. นั่งรถมอเตอร์ไซค์มาเรียนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ผู้ปกครองไม่ได้ซื้อหมวกกันน็อกให้เนื่องจากอาจต้องมีค่าใช้จ่า

จากการสำรวจนักเรียนกทม. ทั้งหมด มีประมาณ 270,000 คนจาก 437 โรงเรียน มีเด็ก 70% นั่งรถมอเตอร์ไซค์มาเรียนอาจจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ขับมาส่งหรือนั่งจักรยานยนต์รับจ้างมา เด็กที่ไม่มีหมวกกันน็อกใส่ เนื่องจากไม่สามารถนำหมวกกันน็อกของผู้ใหญ่มาใส่ได้ เพราะจะทำให้มีช่องว่างและป้องกันศรีษะไม่ได้ จากการสำรวจความต้องการหมวกกันน็อกสำหรับนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2565 รวมจำนวน 126,117 คน แบ่งเป็น หมวกสำหรับเด็กขนาดเล็ก(55-56 ซม.) จำนวน 53,186 คน ขนาดกลาง(57-58 ซม.) จำนวน 36,924 คน ขนาดใหญ่ (59-60 ซม.) จำนวน 26,426 คน และขนาดผู้ใหญ่สำหรับเด็กมัธยม จำนวน 9,581 คน

วันนี้กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่พร้อมสนับสนุนหมวกกันน็อก ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กส่วนใหญ่ที่นั่งมอเตอร์ไซค์มาเรียนเกือบ 100%ไม่ได้ใส่หมวกกันน็อกซึ่งทางสมาคมฯ ยินดีสนับสนุนหมวกกันน็อกให้แก่นักเรียนกทม. ทุกคน ในเรื่องของการออกแบบจะทำในรูปแบบที่เด็กอยากใส่ โดยจะเน้นที่มี มอก.เพื่อให้มีความปลอดภัย 100% โดยหมวกนี้จะให้เป็นสมบัติของกทม. ให้เด็กยืมใช้เป็นเทอมๆ ไป อาจจะมีตราสัญลักษณ์ติด และให้เด็กใช้คนละใบ

ทางสมาคมมีความห่วงใยว่าเมื่อได้หมวกไปแล้วเด็กอาจจะไม่ใส่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเด็กเอาไปแล้วใส่จริงๆ จะให้ครูที่อยู่หน้าโรงเรียนคอยรับเด็กในช่วงเช้าสังเกตุว่าเด็กสวมหมวกนิรภัยทั้งไปและกลับหรือไม่ นอกจากนี้สมาคมอยากให้มีการรณรงค์เรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้ปลอดภัย โดยให้ใส่หมวกกันน็อกทั้งขาไปและขากลับ ให้ขับขี่เลนซ้ายเพื่อความปลอดภัย ให้หยุดรถตรงทางข้าม หยุดรถที่ไฟเขียวไฟแดง และไม่ขับย้อนศร

ซึ่งกทม. จะเริ่มรณรงค์พร้อมกับเด็กและผู้ปกครองควบคู่ไปด้วย สำหรับการดำเนินการภายหลังจากการออกแบบหมวกกันน็อกแล้วเสร็จ ตั้งเป้าไว้ 1 เดือนหลังจากนี้ จะรายงานความคืบหน้าหรือหากผลิตแล้วเสร็จเป็นบางส่วนก็จะทำการทยอยแจกให้แก่นักเรียนได้ใช้สวมใส่เพื่อความปลอดภัย

ด้านนายอานนท์ วังวสุ กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนความปลอดภัยให้แก่เด็ก โดยจะออกแบบให้มีความน่ารักตามที่เด็กชอบ ให้เด็กอยากใส่ด้วตัวเด็กเอง ซึ่งจะเป็นการฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก โครงการนี้เป็นโครงการเกี่ยวกับเด็กเป็นโครงการแรกในปีนี้

“ทุกวันมีความหมาย หนึ่งวันที่ผ่านไปหากมีเด็กเสียชีวิต ก็จะเสียใจมาก หากเราทำได้เร็วก็จะยิ่งดี เพราะหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของเด็ก ต้องขอขอบคุณทางสมาคมฯ มาก ที่กรุณาคิดถึงเด็กๆ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว