บูม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ชัชชาติ ดึงหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาไฟฟ้า-ประปา-สายสื่อสารลงดิน

3 หน่วยงานร่วมแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือทุกหน่วยงานในกรณีโครงการน้ำประปาดื่มได้ และโครงการสารสื่อสารลงดิน

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับนายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการต่อเนื่องจากการนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ให้หน่วยงานเหล่านี้เข้ามาดูข้อมูลได้ทันทีโดยมีรหัสให้แต่ละหน่วยงานเข้ามาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนได้เลย

ปกติแต่ละหน่วยงานจะมีหน่วยงานที่รับเรื่องอยู่แล้วก็มารับเรื่องจากตรงนี้ไปแล้วมาตอบกลับให้ประชาชน โดยจะมีการตั้งผู้ประสานงานแต่ละหน่วยงานในการพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ข้อดีหรือพลังของแพลตฟอร์มคือสามารถขยายได้ไม่มีข้อจำกัด สุดท้ายอาจขยายไปใหญ่กว่านี้หรือเป็นความร่วมมือที่มีพลังมากกว่านี้

นอกจากนี้ได้หารือกับการประปานครหลวง 2 เรื่อง คือ การตั้งจุดประปาน้ำดื่มฟรีให้ประชาชนซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีแต่ได้รื้อไปแล้ว เชื่อว่าการมีจุดประปาน้ำดื่มได้เป็นสิ่งสำคัญของเมืองเหมือนกันเพราะปัจจุบันในกรุงเทพฯ หาน้ำดื่มฟรีค่อนข้างยาก

และการประปายืนยันว่าน้ำประปาดื่มได้ การทำจุดน้ำประปาดื่มได้ต้องไม่กีดขวางทางเดิน สะอาดและสะดวก เป็นการยืนยันความปลอดภัยของน้ำประปา ในแง่สิ่งแวดล้อมช่วยลดขวดพลาสติกได้ อีกเรื่องเป็นเรื่องสายสื่อสารการประปาบอกว่าสายสื่อสารใต้ดินมีเยอะกว่าบนดิน ก็จะมีการหารือในตัดสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้แล้ว การลดสายสื่อสาร และการนำสายสื่อสารลงดิน

ด้านการไฟฟ้านครหลวงได้หารือการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าหม้อแปลงต่าง ๆ ยังอยู่ในมาตรฐานที่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมให้ความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงอย่างเต็มที่ ปัจจัยสำคัญคือเรื่องสายสื่อสาร ตัวฉนวนเป็นตัวที่สามารถติดไฟได้หลายครั้งที่สายสื่อสารอยู่ชิดหม้อแปลงมาก พอเกิดการชอร์ตขึ้นไฟลามไปตามสายสื่อสาร เป็นตัวสำคัญที่กรุงเทพมหานครคงต้องช่วยตัดสายสื่อสารที่เป็นสายตายออกและนำสายสื่อสารลงดิน จะร่วมมือกับการไฟฟ้าเร่งรัดเรื่องสายสื่อสาร โดยจะมีการนัดหมายกับการไฟฟ้าและ กสทช. เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ และทำให้ปลอดภัยขึ้น

ส่วนทางตำรวจตามปกติจะเน้นเรื่องฉุกเฉิน หลายเรื่องใน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) อาจไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินแต่เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงระยะยาว การร่วมมืออาจเป็นคนละรูปแบบที่ 191 จัดการอยู่ก็จะมีการประสานความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากที่สุดเพื่อให้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ประชาชนได้มากที่สุด เช่น กรมปศุสัตว์ในด้านการดูแลสัตว์จรจัด เป็นต้น

รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวเสริมว่า รูปแบบการจ่ายไฟมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นระบบเน็ตเวิร์กมีหม้อแปลงอยู่ประมาณ 400 ลูก ปกติจะมีการบำรุงรักษาปีละ 1 ครั้ง จะเพิ่มความถี่เป็น 6 เดือนครั้ง และจะระดมปูพรมตรวจสอบทั้งหมด หากประชาชนพบความผิดปกติของหม้อแปลง เช่น มีน้ำมันไหล หรือได้ยินเสียงผิดปกติอาจและอาจเป็นอันตรายกับประชาชนได้ขอให้ประชาชนแจ้งการไฟฟ้านครหลวง โทร. 1630 ทันทีหรืออาจจะแจ้งทางทราฟฟี่ ฟองดูว์

“ขอบคุณทุกองค์กรที่มาร่วมกัน เมืองไม่ใช่ของ กทม. คนเดียว ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เมืองจะดีได้ทุกคนต้องร่วมกัน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้าย