หมอธีระวัฒน์ เผยข้อเสียติดโควิดซ้ำ อาการยิ่งหนัก “ลองโควิด” ผลร้ายระยะยาว

หมอธีระวัฒน์ โควิด

หมอธีระวัฒน์ ชี้โควิดยิ่งติดซ้ำ อาการยิ่งหนัก เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ อธิบายอาการ “ภาวะลองโควิด” เกิดขึ้นหลังไม่พบเชื้อ เป็นสิ่งเตือนใจ ไม่ควรติดเชื้อ อาจเกิดผลร้ายระยะยาว

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายถึงผลกระทบการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดเป็นเวลานานขึ้น

ข้อความโพสต์ดังกล่าวระบุว่า ยิ่งติดซ้ำ ยิ่งหนักขึ้นในภายหลัง เป็นเหตุผลที่ ถ้าติด ควรต้องหายเร็วที่สุด หมอดื้อ แม้ว่าจะได้วัคซีนเต็มเหนี่ยวแล้วก็ตาม
แม้ว่าคราวที่แล้วเป็นเดลต้า ครั้งใหม่เป็นโอมิครอนก็ตาม แม้ว่าคราวที่แล้วเป็นโอมิครอน ครั้งใหม่เป็นโอมิครอนก็ตาม

               

ผลกระทบหนักขึ้นเป็นเงาตามตัว และลองโควิดยืดยาวขึ้น ในทุก ๆ ครั้งที่ติดซ้ำใหม่ รวมถึงความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง และภาระที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้น

เป็นการวิเคราะห์ ทหารที่ปลดประจำการ จำนวน 257,427 คนที่ติดเชื้อครั้งเดียว กับ 38,926 คนที่มีติดเชื้อครั้งที่สอง ครั้งที่สาม จนกระทั่งถึงสี่ครั้งหรือมากกว่า และเทียบกับประชากร 5.3 ล้านคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย

ข้อมูลจาก Al-Aly, นักระบาดวิทยาที่ Washington University และ chief of research and development at the VA St. Louis Health Care System.

Advertisement

ข้อมูล preprint และลงใน Medscape’s Coronavirus Resource Center.

“ลองโควิด” คืออะไร

นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ยังโพสต์ข้อความก่อนหน้าถึงข้อควรรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด ระบุว่า ลองโควิดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (เชื้อไม่พบแล้ว) โดยมีรายละเอียด รวมถึงลักษณะอาการ ดังนี้

1.อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก

Advertisement

2.เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ

3.เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า หลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน

4.อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจบไปแล้ว และอาการสามารถรุนแรงขึ้นได้ และสามารถทอดยาวนานกว่าสามเดือนต่อไปอีก หรืออาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่ ที่ไม่ได้ปรากฎขณะที่ยังติดเชื้อ

5.กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้ว ในรูปของ chronic fatique syndrome หรือ Myalgia encephalomyelitis แต่โควิดเกิดได้รุนแรง และยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่น ๆ มาก

6.กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์พบได้ 30% หรือมากกว่า และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็นโรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน

7.หลักในการบำบัดต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้งโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย และยังต้องประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เนื้อแดง ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง รวมกระทั่งถึงมลพิษ PM 2.5 เป็นต้น

8.จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว

9.วิธีที่ “อาจ” ป้องกันการเกิดลองโควิดได้คือการให้การรักษาเร็วที่สุดเมื่อรู้ว่าติด เพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การใช้ฟ้าทลายโจรซึ่งมีในประเทศไทยอยู่แล้วโดยในผู้ใหญ่ให้ในขณะที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก.ต่อวัน และในเด็กขนาด 30 มก.ต่อวัน แบ่งให้วันละสามครั้ง และถ้าไม่สามารถควบคุมอาการได้ ควรต้องตามด้วยยาต้านไวรัส เช่น โมลนูพิราเวียร์ เร็วที่สุด

งานวิจัยและพัฒนาเชิงรุกผลกระทบลองโควิด ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)