ยาต้านโควิดดีมานด์พุ่ง ยาเถื่อน ขายเกลื่อนออนไลน์

ยาต้านไวรัส

การกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 รอบล่าสุด ที่มีจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ที่แต่ละสัปดาห์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาลที่ตรวจด้วยเอทีเค ที่มีตัวเลขประมาณ 140,000 คน หรือเฉลี่ยประมาณวันละ 20,000 คน ไม่ต่างจากตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในหลาย ๆ ประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงอย่างรวดเร็ว

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในหลาย ๆ จังหวัด รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่ออกมาร้องหายาต้านไวรัสเพิ่มเป็นระยะ ๆ รวมทั้งเริ่มมีการยืมสต๊อกยาจากโรงพยาบาลในย่านใกล้เคียง ขณะที่โรงพยาบาลแม่ข่ายในการเบิกจ่ายยาก็ทวงถามไปยังส่วนกลางและองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตยาต้านไวรัสรายใหญ่เป็นระยะ ๆ และถี่ขึ้น ๆ เช่นเดียวกับชมรมแพทย์ชนบทที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นระยะ ๆ ว่า ยาต้านไวรัสขาด ยาต้านไวรัสมีไม่เพียงพอ

ทุกครั้งที่มีเสียงร้องว่าฟาวิพิราเวียร์ขาด หรือยาต้านไวรัสขาด ทางฟากฝั่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันทุกครั้งว่าฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดและมีสำรองไว้มากพอ รวมทั้งได้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติม และยังเตรียมจัดหายาต้านไวรัสอื่น ๆ เข้ามาอีก

ขายเกลื่อนออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ อภ.จะออกมายืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามียาต้านไวรัสโควิดเพียงพอ แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่ามาร์เก็ตเพลซชื่อดังหลายแห่ง ร้านค้าออนไลน์ต่างมีความเคลื่อนไหวในการนำยาต้านไวรัสโควิดออกมาจำหน่ายกันอย่างคึกคัก จากปกติที่ยานี้จะมีจ่ายเฉพาะในโรงพยาบาล เนื่องจากยาต้านไวรัสจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจำเป็นต้องมีการติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา

อาทิ การประกาศขายโมลนูพิราเวียร์ “Moluzen-200” ขนาด 200 มก. ขายในราคากล่องละ (40 เม็ด) 4,590 บาท และโมลนูพิราเวียร์ “Molnatris” 4,590 บาท พร้อมบริการจัดส่งฟรี

เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า โมลนูพิราเวียร์ดังกล่าวเป็นยาที่มีแหล่งผลิตจากประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศขายยาต้านไวรัสผ่านกรุ๊ปไลน์ โดยมีการระบุข้อความในลักษณะว่าราคายาต้านไวรัสโควิด (ใหม่) เช่น Paxlovid (Generic from India) ราคา 9,900 บาท (ค่าส่ง 100 บาท), Molnupiravir ราคา 2,200 บาท (ค่าส่ง 100 บาท) พร้อมระบุให้ผู้สนใจสั่งซื้อติดต่อได้ที่เบอร์มือถือหรือแอดไลน์

เช่นเดียวกับการประกาศขายยาโมลนูพิราเวียร์ Molacovir ที่คาดว่าจะมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศลาว ที่ได้ไลเซนส์การผลิตจาก Merck ด้วย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการขายยาต้านไวรัสผิดกฎหมาย เมื่อย้อนกลับไปช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 2564 ที่ขณะนั้นสถานการณ์โควิดกำลังร้อนแรง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการจับกุมการลักลอบนำฟาวิพิราเวียร์จากประเทศเพื่อนบ้านมาจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และมีการลักลอบเอายาฟาวิพิราเวียร์ “ฟาเวีย” ของ อภ.ออกมาขายผ่านออนไลน์ ในราคากล่องละ 4,000-8,000 บาท

ไม่เพียงเฉพาะการเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับการลักลอบขายยาต้านไวรัสเท่านั้น อย.ยังเตือนประชาชนเป็นระยะ ๆ ไม่ให้ซื้อยาต้านไวรัสมารับประทานเอง เพราะอาจเป็นยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญในการรักษาโรค หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้เสียโอกาสในการรักษาและอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน นอกจากนี้ การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการใช้ยาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์

ที่สำคัญ การใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย

ไม่มีอาการไม่จ่ายฟาวิฯ

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น และทำให้ความต้องการยาต้านโควิดมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่การปรับแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วยการใช้นโยบาย “เจอ แจก จบ” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (endemic) แต่ก็ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับยาต้านไวรัสทุกคน

เนื่องจากกรมการแพทย์ได้วางแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข (ฉบับปรับปรุง 1 มีนาคม 2565) กำหนดให้ “เจอ แจก จบ” เป็นการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิดเหมือนกับการรักษาผู้ป่วยนอกของโรคทั่วไป

โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ที่แนวทางเวชปฏิบัติฯกำหนดให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้ ดูแลรักษาตามอาการตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์

ขณะที่ผู้ป่วยอีก 3 กลุ่มเข้าข่ายที่จะสามารถรับยาต้านไวรัสได้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด, ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส 1 ชนิด และผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ แพทย์จะพิจารณาให้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสตามความเหมาะสม

ล่าสุดแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับปรับปรุง (ครั้งที่ 24) วันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่กำหนดกลุ่มผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม ก็ยังกำหนดให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและให้ดูแลตามอาการตามดุลพินิจแพทย์ และไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เนื่องจากส่วนมากหายเองได้

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง การให้ยาต้านไวรัสขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์

อย่างที่รับรู้กันว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสโควิด 4 ตัวประกอบด้วย ฟาวิพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์,โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด

และล่าสุด อย.เพิ่งอนุมัติขึ้นทะเบียนยา Evusheld ยาฉีดเพื่อป้องกันโควิดของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ภายใต้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565

ล่าสุดที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติงบฯ 3,995 ล้านบาท ในการซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ เพื่อรับมือโควิดระบาด

ขณะเดียวกัน สธ.ยังมีแผนจะเตรียมขยายให้คลินิกเอกชนจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เองได้เหมือนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา โดยอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาจ่ายยาได้ด้วย

สิ่งที่ สธ.ย้ำมาอย่างต่อเนื่องว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์เป็นสำคัญ