ภารกิจ กสทช. จัดประมูลดาวเทียม สานต่อกิจการอวกาศไทย

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.
พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.

นับถอยหลัง 15 มกราคม กสทช. เปิดประมูลสิทธิ์เข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นครั้งแรก ก้าวสำคัญของการรักษาสิทธิ์และสานต่อกิจการอวกาศไทย 

สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เป็นข้อตกลงที่เกิดในระดับนานาชาติเพื่อใช้ประกอบกิจการอวกาศและดาวเทียมสื่อสารที่ส่งประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมากมาย ประเทศไทยเองถือครองสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จำนวนถึง 21 ข่ายงานดาวเทียม ครอบคลุมตำแหน่งวงโคจร (เส้นแวง, องศาตะวันออก) 7 ตำแหน่ง แต่มีดาวเทียมสื่อสารใช้งานอยู่เพียง 9 ข่ายงาน

ดังนั้นภารกิจสำคัญ คือ การเร่งจัดหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสานต่อกิจการด้านอวกาศนี้ไม่ให้ไทยสูญเสียสิทธิวงโคจรที่ได้รับมา ทั้งต้องทำให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดจากการมอบสิทธิ์ให้เอกชนด้วย

ตำแหน่งวงโคจร ข่ายงานดาวเทียม และสิทธิเข้าใช้

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ากิจการอวกาศหรือกิจการดาวเทียม เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยข้อตกลงระดับนานาชาติ เพื่อแบ่งพื้นที่วงโคจรรอบโลกออกเป็นส่วนๆ ซึ่งดาวเทียมสื่อสารแต่ละตำแหน่งอิงกับตำแหน่งพิกัดของเส้นแวง จะสามารถส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ต่างกัน ทั้งยังครอบคลุมโดยไม่มีพรมแดนรัฐชาติ

Advertisment

ดังนั้นจึงต้องมีการประสานวงโคจร หรือ การเจรจาตกลงระหว่างประเทศผ่านองค์กรที่เรียกว่า  หรือ International Telecommunication Union (ITU) หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดรูปแบบและใบอนุญาตให้เข้าใช้วงโคจรร่วมกันของชาติสมาชิกที่มีกว่า 191 ประเทศ

โดย ITU จะเป็นผู้กำหนดทำทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศ (Master International Frequency
Register – MIFR) แล้วให้มี “ข่ายงานดาวเทียม” หรือ ชุดข้อมูลที่แสดงสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
ของประเทศสมาชิก ITU ซึ่งประกอบด้วย รายละเอียดการใช้งานคลื่นความถี่ ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม
และลักษณะทางเทคนิคของการใช้งาน เพื่อใช้ส่งสัญญาณสื่อสารรูปแบบต่างๆ สู่ภาคพื้นโลก

จากนั้นประเทศสมาชิกจะต้องทำรายงานและหลักฐานเพื่อขอใช้งานประทำการ “ประสานความถี่วงโคจร” กับสหภาพฯ หรือดาวเทียมอื่นๆ ของนานาชาติ

ซึ่งประเทศไทยได้ขอสิทธิ “จอง” ข่ายงานดาวเทียม ได้ใบอนุญาติ (Filling) ไว้ทั้งสิ้น 21 ข่ายงาน มีดาวเทียมใช้งานอยู่ 4 ดวงครอบคลุมจำนวนข่ายงานดาวเทียม 9 ข่ายงาน

Advertisment

คงเหลือข่ายงานที่ว่างเว้นอยู่ถึง 12 ข่ายงาน และใน 12 ข่ายงานนี้ มีวงโคจรที่ประสานความถี่แล้ว หรือมี “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์” จำนวน 6 ข่ายงาน

จึงเกิดช่องว่างสำคัญว่าหากไทยไม่เร่งจัดหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุนส่งดาวเทียมและประกอบกิจการอวกาศนี้ อาจส่งผลให้สูญเสียสิทธิ และอาจถูก ITU ริบ “ข่ายงานดาวเทียม” ที่ไทยได้จับจองไว้คืนไปให้ชาติอื่นๆ ที่พร้อมใช้ประโยชน์

ภารกิจประมูลสิทธิ์เข้าใช้วงข้อจร 

ในช่วงสองปีมานี้ การหาผู้รับสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยวิธีการประมูลประสบความยากลำบาก จนทำให้การประมูลล่มก่อนหน้าหนหนึ่ง

ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความพยายามที่จะออกแบบการประมูลสิทธิเข้าใช้ใหม่ ออกแบบแพกเกจใหม่ รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการประมูลใหม่ๆ โดยแบ่งเพกเกจการประมูลเป็น 5 ชุด ซึ่งมีราคาขั้นต่ำและสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไป จนสามารถกำหนดการประมูลได้ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ที่จะถึงนี้

โดย กสทช. ได้นำเอาข่ายงานดาวเทียมจำนวน 12 ข่ายงาน ที่ไม่มีการใช้งาน มามัดรวมจัดแพกเกจ 5 ชุด ที่มีลักษณะการใช้งานและปลดปล่อยคลื่นความถี่ใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ที่ชนะประมูลได้ข่ายงานดาวเทียมไปทั้งชุด ได้แก่

ชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 50.5E ประกอบด้วยข่ายงาน Thaicom-C1 และ Thaicom-N1 ซึ่งเป็นข่ายงานดาวเทียมที่มีสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ประสานความถี่แล้ว พร้อมปล่อยดาวเทียม  และวงโคจร 51E ข่ายงาน Thaicom-51 ที่ยังอยู่ระหว่างประสานความถี่ของวงโคจร ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 78.5E ข่ายงาน Thaisat-A2B ประสานความถี่สมบูรณ์แล้วพร้อมยิงดาวเทียม และ Thaisat-78.5E ระหว่างประสานความถี่ ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 119.5E ข่ายงาน Thaisat-IP1, P3 พร้อมยิงดาวเทียม และ Thaisat-119.5E ระหว่างประสานงานโคจร และวงโคจร 120E ข่ายงาน Thaisat-120E ระหว่างประสานความถี่ ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง) 126E ข่ายงาน Thaisat-126E อยู่ระหว่างประสานความถี่ ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร (ตามเส้นแวง)142E ข่ายงาน Thaicom-G3K พร้อมยิงดาวเทียม และข่ายงาน Thaicom-142E อยู่ระหว่างประสานความถี่ ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ

อย่างไรก็ตาม กำหนดการประมูลครั้งใหม่ ยังได้รับการคัดค้านจาก สหภาพแรงงานเอ็นที พรรคไทภักดี พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และเรียกร้องให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) เป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมแทน

กสทช. ชี้ มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการกิจการดาวเทียม

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ผู้ดูแลกิจการดาวเทียม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญ 2540-2550 บอกให้บริหารเฉพาะคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่ กสทช. ต้องรับผิดชอบเรื่องสิทธิวงโคจรดาวเทียมหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นมา โดยในมาตรา 60 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพิ่มคำว่า “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม”

คีย์เวิร์ดที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทำให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2562 ฉบับที่ 3 ให้อำนาจเพิ่มขึ้นตามมาตรา  27 ให้ สกทช.ทำหน้าที่ในการได้มาและรักษาไว้ซึ่งวงโคจรดาวเทียม รวมทั้งทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานอำนวยการในการประสานกับ  ITU นี่คือฐานอำนาจที่ให้ กสทช. เพิ่มขึ้น

“ธนพันธุ์” กล่าวอีกด้วยว่า อำนาจที่เพิ่มขึ้นทำให้เราต้องดำเนินการจัดสรรสิทธิวงโคจร โดย

1.นำข่ายงานดาวเทียมที่ยังไม่มีดาวเทียมใช้งาน

2.นำข่ายงานดาวเทียมที่มีดาวเทียมหมดอายุแล้ว

3.นำข่ายงานดาวเทียมที่มีดาวเทียมกำลังหมดอายุ มาจัดสรรใหม่

ดังนั้นในแพกเกจประมูลข่ายงานดาวเทียมทั้ง 5 ชุดข้างต้น จึงครอบคลุมลักษณะการจัดสรรโดยชุดที่ 1, 4 และ 5 ยังไม่มีดาวเทียมใช้งาน ชุดที่ 2 ดาวเทียมไทยคม 5 เพิ่งตกหมดอายุทางวิศกรรม และชุดที่ 3 ไทยคม 4 กำลังหมดอายุ จึงต้องหาผู้ให้บริการใหม่

โล่งใจ มีผู้สนใจประมูลมากกว่า 2 ราย

“ธนพันธุ์” เปิดเผยว่า จากการพิจารณาคุณสมบัติ 3 ข้อ

  1. คุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศ กสทช. เช่น มีสัญชาติไทยสืบย้อนไปสองรุ่น และมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย
  2. ประสบการณ์ของผู้เข้าประมูล ด้านกิจการอวกาศ ดาวเทียมสื่อสาร/โทรคมนาคม โดยเปิดกว้างให้นำประสบการณ์จากบริษัทแม่ที่ถือหุ้นเดิน 25% มาพิจารณาได้ด้วย
  3. ศักยภาพด้านการเงิน พิจารณาจากกระแสเงินสด การรับรองจากผู้ถือหุ้นและหนังสือรับรองจากธนาคารหรือสถาบันการเงินว่าจะเป็นแหล่งทุนตลอดระยะเวลาสัญญา โดยรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1พันล้านบาท

มีผู้เข้าร่วมประมูลได้สามราย ได้แก่ 1.บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของไทยคม 2.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการระบบดาวเทียมวีแซทบนแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล

“ธนพันธุ์” กล่าวอีกด้วยว่า เมื่อเห็นรายชื่อผู้ที่พร้อมจะเข้าประมูลในวันที่ 15 มกราคม นี้ รู้สึกโล่งใจ เพราะคราวที่แล้วมีรายเดียว ตอนนี้มีผู้เข้าร่วมประมูลถึง 3 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันและยากต่อการฮั้วล่วงหน้า โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใด และมีความต้องการที่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

การประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Glock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้อง ตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด แต่ราคาสุดท้ายเป็นราคาที่กำหนดโดยผู้ออกจากการประมูลคนสุดท้าย ผู้ชนะการประมูลจะได้รับใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นระยะเวลา 20 ปี

ความคาดหวัง

นอกจากนี้ “ธนพันธุ์” ยังเปิดเผยความคาดหวังว่า ในการจัดชุดแพกเกจข่ายงานดาวเทียม 5 แพกเกจ น่าจะมีผู้เข้าประมูลได้ไป 3 แพกเกจ ซึ่งคาดว่าแพกเกจชุดที่ 2-3 จะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นข่ายงานเก่าที่มีความพร้อมในการส่งดาวเทียมและมีศักยภาพในการปล่อยสัญญาณได้ทั้ง “บอร์ดแคสต์” และ “บรอดแบรนด์” จึงน่าจะถูกประมูลไป โดยราคาขั้นต่ำของสองแพกเกจนี้ คือ 360 และ 390ล้านบาทตามลำดับ

“ส่วนตัวมองว่า ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 มีศักยภาพมากเพราะครอบคลุมพื้นที่เอเชียบางส่วน ทะเลจีนใต้ ไปจรดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และยังสามารถกระจายสัญญาณบรอดแบรนด์ได้ แต่ยังต้องเริ่มต้นทำอีกหลายอย่างตั้งแต่การประสานความถี่วงโคจร เราจึงเรียกว่า ชุด SME เริ่มต้นเพียง 8 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้มีคนมาเริ่มทำ และหวังว่าจะมีผู้เข้าประมูลได้ชุดนี้ไปด้วย”

การประมูล เอื้อต่อรัฐบาลและประเทศ

“ธนพันธุ์” กล่าวถึง การตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่อยากให้มีกิจการดาวเทียมเป็นของตัวเองด้วยว่า การประมูลครั้งนี้ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ภาครัฐในกิจการความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ โดยได้มีการกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องแบ่งช่องสัญญาณแก่ภาครัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดดาวเทียม

ในดาวเทียมแต่ละดวงต่อให้สิทธิรัฐจำนวน 1 Transponder กรณีดาวเทียมบรอดแคสต์ และจำนวน 400Mbps กรณีดาวเทียมบรอดแบรนด์ ซึ่งมากกว่าระบบสัมปทานแบบเดิมที่รัฐได้เพียง 1Transpoder ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวง  และสำหรับชุดข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 3 ทำให้ภาครัฐสามารถตั้งสถานีรับภาคพื้นดินเพื่อควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมได้ด้วย

ดังนั้น หลักเกณฑ์การประมูลที่จะเกิดขึ้นนี้ จึงต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เสรี และเป็นธรรม และต้องแข่งขันกับต่างชาติได้ เนื่องจากกิจการดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่บริการเฉพาะภายในประเทศ แต่สามาถให้บริการต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันต่างชาติก็สามารถให้บริการในไทยได้ด้วย

ย้ำ การประมูลครั้งนี้สำคัญ รักษาสิทธิประโยชน์ของชาติ

“ธนพันธุ์” กล่าวย้ำ ว่าเรื่องการอนุญาตให้มีสิทธิ์ใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อไม่ให้สิทธิวงโคจร 21 ข่ายงานดาวเทียมของไทยถูกยึดคืนไป สองคือเพื่อความต่อเนื่องของการให้บริการ เช่น ดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังจะหมดอายุ ดังนั้นถ้าเกิดเคสที่แบบไม่มีดาวเทียม หรือสัญญาณหาย จอทีวีดับ กสทช. มักจะตกเป็นผู้ต้องหาของสังคม จึงต้องมีการเตรียมการเพื่อให้บริการสัญญาณการสื่อสารจากดาวเทียมมีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ก็ต้องหาทางดำเนินการนำสิทธิวงโคจรที่ว่างอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้ ซึ่งการประมูลครั้งนี้ คือ การที่เอาสิทธิที่มี ที่ได้จาก ITU มาทำให้เกิดความสามารถในการเชิงพาณิชย์ให้ได้เป็นดีที่สุด