ไลฟ์คอมเมิร์ซ ขายของจีนในไทย ทุบรายย่อย-กลางตายเรียบ

ภาพประกอบข่าวอีคอมเมิร์ซ- e-Commerce -พัสดุ

สินค้าจีนทุบตลาดผ่านไลฟ์คอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการรายกลางอ่วม สมาคมผู้ประกอบการพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์-ดีป้า เร่งนำบิ๊กดาต้าช่วยวิเคราะห์ ช่วยรายย่อย-กลางหาช่องว่างสร้างแบรนด์สู้ศึกอีคอมเมิร์ซ

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) เปิดเผยประชาชาติธุรกิจว่า สมาคมและตนได้มีการมอนิเตอร์สินค้าจีนที่ขายตรงจากโรงงานและเริ่มทะลักเข้ามาในไทยมานานแล้ว

“สิ่งที่ผมเห็นตอนนี้คือสินค้าจีนไม่ได้เข้ามาผ่านเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบมาร์เก็ตเพลซ อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า แต่มันเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มอย่างติ๊กต๊อกด้วย ที่เห็นชัดมากเลย คือ การไลฟ์ขายของในติ๊กต๊อก ตอนนี้ เฉพาะในประเทศไทยโดยเฉลี่ยเดือนหนึ่งประมาณ 900,000 ครั้ง สถิตินี้ประมาณช่วงต้นปีนี้”

ใน 900,000 ครั้ง เป็นสินค้าที่ คนจีนไลฟ์ขาย 60 เปอร์เซ็นต์ หรือ 540,000 ครั้งที่เป็นคนจีน ขายสินค้าจากโรงงานจีนมาให้คนไทย ตอนนี้ในติ๊กต๊อกเขาก็จะพยายามปั้นครีเอเตอร์ในไทยเยอะมากเลย เพราะว่าจะทำให้คุยภาษาไทยเล่าเรื่องภาษาไทยดีกว่าอันนี้เป็นแนวโน้มหนึ่งที่ผมเห็น

ผลกระทบทางแรกที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องแล้วก็คือคนกลางที่เอาสินค้าจีนเข้ามาก็ล้มหายตายจากกันไป เพราะว่า คนจีน โรงงานจีน เขาเข้ามาขายตรงเอง คนที่เป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าจีนก็อยู่ยากขึ้น

ผลกระทบต่อมา ก็คือเจ้าของแบรนด์คนไทย ถ้าต้องไปแข่งสินค้า กับคนจีนในมุมราคามันแข่งยากมาก ๆ เขาก็ไม่สู้กัน และเขาก็ไปทำอย่างอื่น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวกันมาก เช่น การเน้นสร้างแบรนด์ เพิ่มเซอร์วิส  ทำแบรนด์ให้น่าเชื่อถือเข้าไว้ ถ้าไปแข่งราคาอย่างเดียวไม่คุ้มแล้ว

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)

“การจะเข้าไปควบคุมดูแลทำได้ยาก มันเป็นระดับนโยบาย ณ ตอนนี้ เราคงไปห้าม Globalization ไม่ได้ เรา อยู่ในยุคการค้าเสรี สิ่งที่สมาคมทำได้ คือเราก็ให้ความรู้ ให้คนที่เป็นผู้ประกอบการเขาปรับตัวและ และสร้างแบรนด์ มันยังมีตลาดอยู่สำหรับเจ้าของแบรนด์ ทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างฐาน ลูกค้าที่ให้กลับมาซื้อซ้ำ”

ทางสมาคมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญนอกจากจะส่งเสริมด้านองค์ความรู้แล้ว ยังพยายามใช้ “บิ๊กเดตา” เข้ามาช่วย โดยการร่วมมือกับทาง Wisesight ประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า eTAILLIGENCE เพื่อดึงข้อมูลร้านค้า สินค้า และช่องทางจำหน่ายต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลช่วยให้ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้การขายของทำได้อย่างชาญฉลาดขึ้น

eTAILLIGENCE ทรานส์ฟอร์ม SMEs ไทย

นายธนาวัฒน์ได้กล่าวในช่วงที่มีการเปิดตัว โครงการ eTAILLIGENCE ว่าการใช้เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์มธุรกิจมีจุดอ่อนตรงที่เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นในการทำธุรกรรมได้

“ถ้ามองภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซปัจจุบันจะเห็นว่ามีมูลค่า 8.18 แสนล้านบาท ในปี 2565 และปี 2566 จะเป็น 9.32 แสนล้านบาท และใน 4 ปี จะไปถึง 1.6 ล้านล้านบาท ธุรกรรมทิ่เกิดขึ้นบนระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซจึงเป็นข้อมูลมหาศาลที่ใช้ต่อยอดต่อได้ และเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เอาของไปขายบนแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ ซึ่งเหลือเจ้าใหญ่ 2 ราย ช้อปปี้ และลาซาด้า ในฝั่งโซเชียลคอมเมิร์ซก็เริ่มโตขึ้นแต่ข้อมูลพฤติกรรมในธุรกรรมมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ไม่เคยกลับมามีประโยชน์กับผู้ขายหรือเอสเอ็มอีเลย”
ทั้งที่ร้านค้าในไทยมีปริมาณธุรกรรมมหาศาล และเป็น “ก้อนข้อมูล” ที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าลูกค้าเป็นใคร แต่เห็นลึกถึงขั้นว่า “สินค้าอะไรที่คนซื้อ” ทำให้เอสเอ็มอีออกแบบสินค้า และบริการให้เหมาะสมได้ และคิดต่อว่าทำอย่างไรจะทำให้ “ข้อมูล” เหล่านั้นเป็นสินทรัพย์ เป็นหลักประกันการเงินให้ธนาคารให้เงินมาลงทุนต่อ
ในส่วนของโครงการ Etailligence มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก เป็นข้อมูลภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย แบ่งเป็น 3 โมดูล 1.shop analysis ทำให้ผู้ใช้เห็นยอดขาย จำนวนร้านค้า สินค้า เจาะลึกไปถึงสินค้าที่ขายดีทำให้วางแผนการตลาดได้แม่นยำขึ้น 2.market insight แสดงข้อมูลบนอีคอมเมิร์ซ และ 3.finance center แสดงความสามารถทางการเงินของร้านค้า ใช้เป็นข้อมูลให้ธนาคารใช้ประกอบการตัดสินใจด้านสินเชื่อได้
“คนขายของออนไลน์ มีสินทรัพย์อยู่บนอากาศ ซึ่งก็คือฐานลูกค้า จะทำอย่างไรถึงจะนำข้อมูลอินไซต์เหล่านั้นไปแมตชิ่งกับธนาคารหรือน็อนแบงก์ ทำให้ เอสเอ็มอีกู้เงินได้ง่ายขึ้น”