บทเรียนความล้มเหลว “Shyp” ฮิตแต่แป้ก

ภาพจาก : https://www.facebook.com/shyp

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ห้าปีก่อน Shyp คือ ความหวังใหม่แห่งวงการ on demand delivery

ลูกค้าปลาบปลื้มกับบริการที่แค่ใช้มือถือถ่ายรูปสิ่งของแล้วอัพขึ้นแอปพลิเคชั่น ก็มีพนักงานมารับไปแพ็คและส่งให้เสร็จ ไม่ต้องเหนื่อยยากหอบหิ้วไปที่ไปรษณีย์เอง แถมค่าบริการแค่ 5 เหรียญสหรัฐ จะส่งโน้ตบุ๊กบางเฉียบหรือบิ๊กไบก์คันใหญ่ ก็จ่ายแค่นี้

นักลงทุนมองสตาร์ตอัพดาวรุ่งนี้ด้วยสายตารักใคร่ ทุ่มเงิน 60 ล้านเหรียญสหรัฐใส่ลงไปรัว ๆ อย่างไม่ลังเล

จากที่ให้บริการในซานฟรานซิสโก บริษัทขยายไปในอีกห้าเมืองใหญ่ เพราะรู้ว่าค่าบริการ 5 เหรียญไม่มีทางกำไร แต่หวังว่าหากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ ประกอบกับมีดีลส่วนลดพิเศษกับบริษัทส่งของใหญ่ ๆ อย่าง FedEx และ UPS ก็น่าจะทำให้อยู่รอดได้

แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด การขยายฐานลูกค้าอย่างรวดเร็ว หมายถึงการลงทุนที่ไม่สิ้นสุด ทั้งค่าจ้างพนักงานที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนจากพนักงานชั่วคราวเป็นประจำ ค่าบริหารออฟฟิศ ค่าแพ็กของ ค่าโกดัง และอื่น ๆ ขณะที่มีรายได้ไม่พอชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

2 ปีผ่านไป บริษัทเริ่มตาสว่างว่ากำไรไม่คุ้มทุน ก็มีแต่ “แป้ก” จึงเริ่มเก็บค่าแพ็กของตามขนาดสินค้า และเริ่มขยายไปสู่ลูกค้านักธุรกิจ เริ่มจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าของ eBay ในปี 2015 แล้วขยับไปเจรจากับ SMEs ที่ส่งของทีละมาก ๆ และสม่ำเสมอ

ปีที่แล้วตัดสินใจถอนทัพจากหัวเมืองอื่นมาตั้งหลักที่ซานฟรานซิสโกเมืองเดียว และเลย์ออฟพนักงานไปเกือบหมด โดยหวังว่าองค์กรที่เล็กลงประกอบกับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดเล็กจะทำให้มีกำไรกับเขาเสียที

แต่ในโลกของสตาร์ตอัพเวลาทุกนาทีมีค่า กว่าจะเริ่มกลับลำ ตัวเลขในบัญชีก็แดงเถือกพอบากหน้าไปขอเงินเพิ่ม นักลงทุนที่อกหักอย่างรุนแรงก็หูดับไม่ฟังกลยุทธ์ใหม่อะไรทั้งนั้น ยอมสละเรือให้จมไปพร้อมเงิน 60 ล้านเหรียญดีกว่าจะขนเงินมาถมทะเลที่ไม่มีวันเต็ม

ท้ายที่สุด Shyp ก็ประกาศปิดกิจการในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “เควิน กิบบอน” เขียนบล็อกสรุปบทเรียนและความผิดพลาดไว้ว่า ความผิดพลาดแรกมาจากการไม่ฟังคำเตือนจากคนรอบข้างเรื่องความไม่คุ้มทุนในการเร่งปั๊มยอดและขยายฐานลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะการคิดค่าบริการแบบ one-size-fits-all ที่อาจได้ใจลูกค้า แต่ขาดทุนบักโกรก

ความผิดพลาดต่อมา คือ เมื่อรู้แล้วว่าหาเงินกับลูกค้ารายย่อยไม่เวิร์ก แทนที่จะตัดทิ้งมุ่งไปลูกค้าธุรกิจก็ดันเสียดายทำใจไม่ได้ทำให้เป็นลูกตุ้มถ่วงผลาญเงินไปเรื่อย ๆ และความผิดพลาดประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มทำในสิ่งที่ถูกต้องเมื่อสายไปเสียแล้ว

Shyp ไม่ใช่รายแรกของ on demand delivery ที่ต้องปิดตัวลง ก่อนหน้านี้ ก็มีหลายเจ้าที่ไปไม่รอด เช่น Mapel, Sprig หรือแม้กระทั่ง Uber Rush ทำให้เกิดคำถามว่า บริการ on demand ที่เน้นลูกค้ารายย่อยเป็นโมเดลที่ควรค่ากับการลงทุนหรือไม่

“กิบบอน”อยากเตือนสตาร์ตอัพหน้าใหม่ว่า การระดมเงินลงทุนได้มาก ๆ ไม่ได้การันตีความสำเร็จตราบใดที่ยังไม่มีโมเดลธุรกิจที่ควบคุมต้นทุนและสร้างกำไรตั้งแต่วันแรก อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในตลาด การหั่นราคาโดยหวังว่าจะคุ้มทุนเมื่อมีลูกค้าเยอะขึ้น คือกับดักที่ล่อสตาร์ตอัพให้ร่วงดิ่งลงเหวมานักต่อนักแล้ว