Bitcoin ETF คืออะไร สำคัญอย่างไร กับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

ก.ล.ต.สหรัฐ ไฟเขียวกองทุนยักษ์ 11 กอง เสนอขายผลิตภัณฑ์ Bitcoin Spot ETF แบงก์ยักษ์-นักวิเคราะห์คาดการณ์เงินไหลเข้าดันมูลค่า Bitcoin ได้ถึงแสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังมีความเสี่ยงเชิงเทคนิคอยู่มาก

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปทำความรู้จักกับ Bitcoin ETF ซึ่งปัจจุบันมี 2 แบบ คือ Spot Bitcoin ETF และ Future Bitcoin ETF ที่ได้มีการซื้อขายมานานแล้ว พร้อมเสนอมุมวิเคราะห์ความสำคัญของความเคลื่อนไหวนี้ และเตือนถึงความเสียงในเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

กองทุนประเภท ETF คืออะไร

กองทุนประเภท ETF (Exchange Traded Fund) คือ กองทุนที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีสินทรัพย์หลักประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือเซ็กเมนต์ใด ๆ เช่น ภาคการเงิน ภาคเทคโนโลยี เป็นสินทรัพย์หลักที่ใช้ซื้อขาย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ETF เป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยง ทำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายโดยใช้เงินน้อยและไม่ต้องวิเคราะห์หุ้นรายตัว มีโอกาสรับผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง และมีโอกาสรับเงินปันผลด้วย ทั้ง ETF ยังเป็นกองทุนรวมที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้สะดวกเพราะมีผู้ดูแลสภาพคล่องทำหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อเสนอขาย

ผู้ลงทุนสามารถทำรายการซื้อขาย ETF ในตลาดหลักทรัพย์ฯได้เมื่อต้องการโดยเปรียบเทียบราคากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ (iNAV = Indicative Net Asset Value) ที่แสดงควบคู่กันระหว่างเวลาซื้อขาย

ในประเทศไทย ETF เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งจะบริหารสินทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง (Passive Fund) ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ในหนังสือชี้ชวน แบ่งหลักทรัพย์อ้างอิงได้ดังนี้ 1.อ้างอิงดัชนีราคาหุ้นในประเทศ 2.อ้างอิงดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม 3.อ้างอิงดัชนีราคาหุ้นต่างประเทศ 4.อ้างอิงดัชนีราคาตราสารหนี้ 5.อ้างอิงดัชนีราคาทองคำ

Spot Bitcoin ETF กับ Future Bitcoin ETF

ดังนั้น Bitcoin ETF จึงเป็นการใช้ Bitcoin เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ล่าสุดมีการอนุมัติ Spot Bitcoin ETF ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ทำให้มีกองทุนยักษ์ 11 รายเสนอขายให้นักลงทุนรายย่อยได้ ทั้ง 11 รายได้แก่ Grayscale Bitcoin Trust GBTC, Bitwise Bitcoin ETF, Hashdex Bitcoin ETF, Blackrock’s iShares Bitcoin Trust, Valkyrie Bitcoin Fund, ARK 21Shares Bitcoin ETF, Invesco Galaxy Bitcoin ETF,

VanEck Bitcoin Trust, WisdomTree Bitcoin Fund, Fidelity Wise Origin Bitcoin Fund และ Franklin Bitcoin ETF.

การเสนอขาย ETF แบบ Spot Bitcoin ETF ให้ผู้ลงทุนจะส่งผลให้กองทุนนั้น ๆ จะทำการซื้อ Bitcoin เข้ามาถือครองจริง ๆ และเชื่อมโยงกับราคาตลาดของ Bitcoin โดยตรง ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยในกองทุนนั้น ๆ เป็นหุ้นส่วนในการถือครอง Bitcoin หรือ BTC ไว้โดยตรง

ขณะที่ Future Bitcoin ETF ที่มีการอนุมัติมาหลายปีแล้ว เป็นเพียงการลงทุนในสัญญาเทียบเคียงของ Bitcoin (futures contracts) เป็นการถือสัญญาเดิมพันกับราคาในอนาคตของ Bitcoin เท่านั้น ดังนั้น Futures Bitcoin ETF มีความไม่แน่นอน และไม่สะท้อนถึงราคา Bitcoin จริง ๆ ได้ กล่าวได้ว่าเป็นเพียงการ “ซื้อราคา” ผ่านสัญญา ไม่ใช่ “ซื้อ Bitcoin” ผ่านการถือครอง (HODL)

ดังนั้น Spot Bitcoin ETF จะเป็นการเปิดโอกาส ให้นักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายมากขึ้น และลดความยุ่งยากในการเปิดบัญชี และเก็บรักษา Bitcoin เอง เพราะการเก็บรักษา Bitcoin หรือสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้และทักษะด้านดิจิทัล-ความปลอดภัยไซเบอร์พอสมควร หากเป็นนักลงทุนกระเป๋าหนัก หรือระดับสถาบันก็ต้องมีการเตรียมต้นทุนการเก็บรักษาและบริหารสินทรัพย์ดิจิทัล หากใช้เครื่องมือ ETF ก็จะลดปัญหาส่วนนี้ได้

จึงมีการคาดการณ์ว่า การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนสถาบันที่มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาด Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีอื่น สอดคล้องกับวัฏจักร Bitcoin Halving ที่จะเกิดในช่วงเดือน เมษายน 2024 ที่จะกระตุ้นความตื่นตัวของตลาดจากปริมาณของเหรียญ BTC ที่ลดจำนวนเกิดใหม่ลง

ในช่วงปี 2023 Bloomberg Intelligence ประเมินว่า หากมีการอนุมัติ Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐ มูลค่าจะมีศักยภาพที่จะเติบโตถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ “นโกลาส พานิเกอร์โซโกล” นักยุทธศาสตร์ของธนาคาร JPMorgan ระบุว่า ตัวราคาของ Bitcoin เองก็จะได้รับอานิสงส์เติบโตถึงแสนเหรียญ เนื่องจาก Spot ETF มีการสะท้อนถึงอุปสงค์และอุปทานแบบเรียลไทม์มากกว่าดัชนีฟิวเจอร์ส อาจทำให้เกิดการโยกย้ายกิจกรรมการซื้อขายและสภาพคล่อง จากตลาด Bitcoin Futures ไปยัง Spot Bitcoin ETF

ข้อควรคำนึง Not your key, not your coin.

Bitcoin เป็นกลไกที่ออกแบบมาแบบ Peer to Peer เอื้อให้ปัจเจกบุคคลเข้าถึง เก็บ ใช้ ส่งต่อให้ผู้อื่นโดยส่วนตัว การให้ “กองทุน” เข้ามาบริหารสินทรัพย์แทนจึงขัดกับปรัชญาพื้นฐานของ Bitcoin ที่ต้องการให้ปัจเจกภาพมีอำนาจควบคุมเงินและการธนาคารในมือตนเอง

นิตยสาร Forbs ออนไลน์ ระบุว่า ความเสี่ยงของ Bitcoin Spot ETF ว่า นักลงทุนต้องไว้วางใจผู้ให้บริการ ETF ในการซื้อและจัดเก็บ Bitcoin อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องการฉ้อโกง และการจัดการที่ผิดพลาด ต้องไม่ลืมว่าผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ในกอง ETF ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นจริง แต่ถือหุ้นในกองทุนที่ควบคุมคีย์ส่วนตัว (Private-Public Key) ในการเข้าถึง Bitcoin

การจัดเก็บและความเสี่ยงในการดำเนินงาน การลงทุน Bitcoin จากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมขนาดใหญ่ เช่น BlackRock อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการรวมศูนย์อำนาจ และการบังคับฉันทามติ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ blockchain fork หรือการปรับปรุงโครงข่าย แก้ไขข้อผิดพลาด สถาบันที่ถือครองสินทรัพย์จำนวนมาก อาจเข้าไปกำหนดได้ว่า “เครือข่าย” ที่อัพเกรดแล้ว หรือ Fork แล้วเวอร์ชัน่ใดเป็น “ของจริง” โดยไม่คำนึงถึงความเห็นพ้องต้องกัน (Consensus) ในหมู่นักลงทุนรายย่อย หรือชุมชนผู้ใช้ Bitcoin-คริปโตรายอื่น ๆ

สิ่งนี้อาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาด รวมถึงการลดค่าของตัวแปร Bitcoin ที่สำคัญ หลักการของ Bitcoin เน้นย้ำถึงความ “ไม่ไว้วางใจ” จำเป็นมีบุคคลที่สามในการตรวจสอบธุรกรรม ด้วยเครือข่ายแบบ peer-to-peer และมีการประกาศธุรกรรมต่อสาธารณะ และโหนดคอมพิวเตอร์ที่กระจายทำงาน แต่ทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ฉันทามติ

แต่ด้วย Bitcoin ETF หลักการเรื่อง “ความไม่ไว้วางใจในบุคคลที่สาม” ต้องได้รับการทบทวน เพราะกองทุนคือบุคคลที่สาม จะขัดแย้งกับการออกแบบดั้งเดิมของ Bitcoin

และแน่นอนว่า เมื่อความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นกับ Bitcoin ย่อมส่งผลเป็นโดมิโนสู่คริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ด้วยการเป็น “พี่ใหญ่” ระบบแรกที่ได้รับการรับรองว่าระบบเทคโนโลยีที่รองรับ “หลักการ” ของการกระจายอำนาจ “มั่นคง” ที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อ “รายใหญ่” ครอบงำระบบจะเป็นสิ่งทิ่มแทง “รากเหง้า” ของ Bitcoin เสียเอง