ไปรษณีย์ไทยอัพกำไรเพิ่ม 5 เท่า คุยอีคอมเมิร์ซปลดล็อกแม่ค้าออนไลน์

thailand post

“ไปรษณีย์ไทย” เร่งเกมปั๊มรายได้-กำไรปี’67 รุดเจรจาอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ปลดล็อกบริการขนส่งเปิดทางลูกค้า-พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีสิทธิเลือกใช้บริการได้เอง ตั้งเป้าอัพสปีดกำไรเพิ่ม 5 เท่า ขยับจาก 78 ล้าน เป็น 350 ล้านบาท เพิ่มน้ำหนักธุรกิจค้าปลีก ส่งเฮาส์แบรนด์ “ไปรฯ” เขย่าตลาด นำร่อง 3 โปรดักต์ “น้ำ-ข้าวสาร-กาแฟ”

วันที่ 22 มีนาคม 2567 ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมปี 2567 ไว้ที่ 22,802 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาท หรือเติบโต 5 เท่าจากปีที่ผ่านมา จากกลุ่มบริการหลัก ได้แก่

บริการไปรษณีย์ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ บริการค้าปลีก บริการการเงิน พร้อมไปกับการเดินหน้าพัฒนาบริการเพื่อทำให้แบรนด์ไปรษณีย์ไทยมีความน่าเชื่อถืออย่างยั่งยืนในระดับอาเซียนภายใน 3 ปี (Trusted Sustainable ASEAN Brand) หลังจากสามารถเป็นแบรนด์เลิฟในใจคนไทยด้วยผลสำรวจความภักดี ความผูกพัน และความไว้วางใจในแบรนด์ในปีที่ผ่านมา ได้คะแนนสูงถึง 96.3%

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

“คู่แข่งของไปรษณีย์ไทย คือพฤติกรรมของผู้บริโภค และโปรดักต์ของเราคือประสบการณ์ของลูกค้า ในปีที่ผ่านมาเราพยายามควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ลดลงได้ทั้งในแง่ต้นทุนบุคลากร และต้นทุนการขาย ที่ลดลงเยอะคือต้นทุนการขนส่ง ทำให้ปีที่แล้วพลิกกลับมาทำกำไรได้ 78.54 ล้านบาท”

และในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้และกำไรมากกว่านั้นมาก ด้วยการยกระดับเครือข่ายที่ทำการและบุรุษไปรษณีย์ ทั้งด้านคุณภาพและการสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วน เสริมด้วยทรัพยากรที่มีศักยภาพ อาทิ เครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมกว่า 50,000 แห่ง ทีมพี่ไปรฯ Postman Cloud การเปิดศูนย์ไปรษณีย์ และเพิ่มโมเดลการแสวงหารายได้ใหม่ที่ยั่งยืน เช่น การให้บริการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ Prompt Post การพัฒนาสินค้า House Brand

“ปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.40% กำไร 78.54 ล้านบาท หลังปรับโครงสร้างการปฏิบัติงาน ลดขนาดพื้นที่การนำจ่าย เพื่อบริหารต้นทุนทำให้ลดลงได้ 30% ขณะที่ด้านรีเทลอีกธุรกิจที่โตแรงไม่แพ้กัน ทั้งการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thailand Post Mart และออฟไลน์ เรายังใช้โครงข่าย ปณท ผลักดันสินค้าท้องถิ่นชุมชนเข้าถึงตลาดมากขึ้น กระจายไปทั่วประเทศ เชื่อว่าตลาดในประเทศยังโตได้อีก และจะขยายไปสู่ต่างประเทศได้”

ดร.ดนันท์กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการต้นทุนขนส่ง โดยการลดระยะทางวิ่งนำจ่าย ทำให้นอกจากค่าเชื้อเพลิงจะลดลงแล้ว ยังลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้กว่า 5,000 ตัน อาจเรียกได้ว่ากำลังเข้าสู่กรีนโลจิสติกส์ มีการลงทุนเพิ่มรถนำจ่ายเป็นรถอีวีสองล้อ 250 คัน และจะเพิ่มสัดส่วนต่อเนื่อง 5 ปี ให้เป็นรถ 2 ล้อสำหรับนำจ่ายพัสดุก่อน วิ่งเฉลี่ย 100 กิโล/วัน/คัน เทคโนโลยีอีวีปัจจุบันถ้าใช้รถใหญ่จะกระทบเวลาการขนส่ง การชาร์จ

“ในอุตสาหกรรมอีวี เราไม่อยากเป็นแค่ผู้เช่าใช้ แต่อยากขยายการลงทุนเข้าไปมีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็มอีวี และใน 1-3 ปี ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Nonlogistics เช่น รีเทล ด้วยการสร้างเฮาส์แบรนด์ ไปรฯ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำดื่ม ข้าวสาร และกาแฟ มียอดขายรวมกว่า 20 ล้านบาทแล้ว และปีนี้จะเพิ่มผลิตภัณฑ์อีก สินค้าเหล่านี้ไม่ต้องมีการโฆษณา แต่มีบุรุษย์ไปรษณีย์นำส่งสินค้า เจาะกลุ่มลูกค้าในโครงข่าย เมื่อไม่มีต้นทุนโฆษณา และขนส่ง ทำให้มีมาร์จิ้นมาก”

ดร.ดนันท์กล่าวด้วยว่า อีกภารกิจสำคัญในปีนี้คือการเร่งเจรจากับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม เพื่อเปิดโอกาสให้ไปรษณีย์ไทยเข้าไปมีส่วนในการให้บริการขนส่งด้วย จากที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้ 25-30% หากทำสำเร็จได้เร็วเท่าไรก็จะผลักดันให้รายได้เพิ่มขึ้นได้อีกมาก

“เรื่องที่เราเห็นว่าหนักหนาที่สุดในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ คือ ความไม่เท่าเทียม สืบเนื่องจากการขนส่งพัสดุส่วนใหญ่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไม่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายบนแพลตฟอร์มเลือกผู้ให้บริการจัดส่งได้ แต่มีบริการในเครือทำเอง ขณะที่การแข่งขันเรื่องราคาเบาไปแล้ว แต่การกีดกันไม่ให้เข้าไปเป็นผู้จัดส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กระทบมาก ในมุมมองเราเรื่องนี้ต้องมีการกำกับดูแล เพราะถ้ามีปัญหาจะกระทบประชาชน เราไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษใด ๆ แต่ต้องการความเป็นธรรม”