Whoscall แจกโค้ดพรีเมี่ยม 3 ล้านโค้ด ลดความเสียหายจากมิจฉาชีพ 2.8 หมื่นล้าน

whoscall

Whoscall ผนึกกำลังพาร์ตเนอร์ แจกโค้ด “Whoscall พรีเมี่ยม” ฟรี 3 ล้านโค้ด มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ตั้งเป้าช่วยคนไทยลดความสูญเสียจากมิจฉาชีพ 2.8 หมื่นล้านบาท

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Whoscall แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปมสำหรับสมาร์ทโฟน ผนึกความร่วมมือกับแบรนด์และหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำแคมเปญ “จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย (SAVE FRIENDS FROM FRAUD)“ และแจกโค้ด Whoscall พรีเมี่ยมฟรี จำนวน 3 ล้านโค้ด รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ผ่านกิจกรรมของพาร์ตเนอร์ที่เข้าร่วมแคมเปญ โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

ตัวอย่างของพาร์ตเนอร์ที่ร่วมแคมเปญกับ Whoscall เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด (บาร์บีคิวพลาซ่า), บริษัท แมกซ์ โซลูชั่น เซอร์วิส จำกัด ในเครือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท วีโว่ ประเทศไทย และสโมสรบลูเวฟ ชลบุรี ฟุตซอล คลับ เป็นต้น

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Gogolook จำกัด กล่าวว่า ในปี 2566 คนไทยได้รับข้อความ SMS ที่เป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวงเฉลี่ย 6 ใน 10 ครั้ง ของข้อความ SMS ทั้งหมดที่ได้รับ หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการได้รับข้อความ SMS หลอกลวงสูงที่สุดในเอเชียอีกด้วย

Advertisment

โดยการหลอกลวงมีหลายรูปแบบ เช่น การหลอกให้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นปลอม เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดคือ 27% การหลอกให้ดาวน์โหลดโปรแกรม หรือแอปพลิเคชั่นที่อันตราย 20% และการหลอกให้เข้าไปที่หน้าช็อปปิ้งออนไลน์ปลอม 8% เป็นต้น

นอกจากนี้ Whoscall ยังมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติในปี 2566 โดยคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ มีถึงวันละ 217,047 ราย โดยมีคนไทยได้รับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพ หลอกลวงจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ ซึ่งเป็นจำนวนยอดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดรวมของ สายโทรศัพท์หลอกลวงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 และข้อความ  SMS เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 รวมมูลค่าความเสียหายสะสมกว่า 53,875 ล้านบาท

“Whoscall มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการต่อสู้กับกลโกงและการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และพันธมิตรที่มีศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเป้าหมายที่สำคัญนี้ ในช่วงต้นปีทาง Whoscall ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ID Security ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ว่าหมายเลขโทรศัพท์ของตนเอง”

ด้านนางสาวฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวว่า การหลอกลวงทางออนไลน์มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ จากหลอกแบบตัวต่อตัวมาสู่การหลอกโดยใช้เทคโนโลยี AI เช่น การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI Deep Fake ในการปลอมตัวตน หรือเก็บและนำข้อมูลส่วนตัวมาหลอกให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ และเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สิน

Advertisment

Whoscall เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของพนักงาน ลูกค้า ตลอดจนประชาชนในชุมชนที่เป็นวงกว้าง จึงได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อให้ความรู้ ปกป้อง และรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไทยทุกคนในโลกดิจิทัลที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2567 Whoscall ตั้งเป้าที่จะช่วยชาติลดความสูญเสียทางทรัพย์สินจากมิจฉาชีพจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท และรณรงค์ให้คนไทยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Whoscall เพื่อเป็นเกราะป้องกันจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ”

ทั้งนี้ Whoscall เป็นแอปที่ให้บริการโดย Gogolook บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ที่ก่อตั้งใน 2555 ปัจจุบันมีฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์กว่า 2.6 พันล้านรายการ โดยฐานข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทเริ่มเข้ามาทำแคมเปญการตลาดและสร้างการรับรู้ในประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน

นายแมนจูกล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของ Whoscall มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ ค่าโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ และการสมัครแพ็กเกจพรีเมี่ยม ซึ่งรายได้จากการใช้พื้นที่บนแอปเพื่อเผยแพร่โฆษณายังมากกว่ารายได้จากการสมัครแพ็กเกจพรีเมี่ยม โดยผู้ใช้ที่สมัครแพ็กเกจคิดเป็นสัดส่วน 5% ของผู้ใช้งานทั้งหมด

“Whoscall มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านครั้ง โดยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรายได้โตจากปีก่อน 80% และจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น 30% สะท้อนว่าผู้คนมีความตื่นตัวกับเรื่องการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพมากขึ้น”