กสทช. สกัดซิมผี บัญชีม้า เล็งทำ API เชื่อมข้อมูลแบงก์-ตำรวจ

sim

ก้าวไปอีกขั้นสำหรับมาตรการกวาดล้างซิมผีบัญชีม้า หลังประกาศ กสทช.ขีดเส้นให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องมาลงทะเบียนภายในวันที่ 13 ก.ค.2567 ซึ่งจะทำให้ กสทช.ได้ข้อมูลการถือครองเลขหมายที่สดใหม่ ตรงกับข้อมูลบัตรประชาชน คัดกรองความเสี่ยงในการนำเลขหมายไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ หรือใช้ “ซิมผี” สำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปัจจุบันมีบัญชีธนาคาร 130 ล้านบัญชี และผูกกับ Mobile Bangking 106 ล้านบัญชี จึงต้องมีมาตรการที่สองช่วยคัดกรองซิมผีบัญชีม้า ให้ “สะเด็ดน้ำ” กับมาตรการล่าสุดที่จะช่วยคัดแยก “ซิมดี-ไม่ดี” และ “บัญชีดี-ไม่ดี” ออกจากกัน เพื่อสกัดช่องทางโยกย้ายเงินของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร” กรรมการ กสทช. และ “พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิมสังกาศ” รองเลขาฯ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

“กสทช.” งัดมาตรการเข้ม

“พล.ต.อ.ณัฐธร” กล่าวว่า การกำกับดูแลและการออกประกาศกฎหมายของ กสทช.เป็นการใช้กฎหมายเทคโนโลยีซึ่งมีความ “ยืดหยุ่น” มากกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว กสทช.จึงออกประกาศให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในกำกับ เช่น มาตรการขึ้นทะเบียนผู้ถือครองซิมการ์ดเกิน 6 เลขหมายที่ปัจจุบันก้าวหน้ามาก โดยระยะแรก คือผู้ถือครองซิม 100 เลขหมายขึ้นไปหมดเวลาขึ้นทะเบียนยืนยันตัวตน เมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา กสทช.ได้ระงับซิมที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ไปแล้วถึง 2,137,465 เลขหมาย รวมทั้งซิมโมบายแบงกิ้งที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวด้วย

พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร

ระยะที่สอง ผู้ถือครอง 6-100 เลขหมาย มีเวลาถึง 13 ก.ค. 2567 ก็จะได้เห็นตัวเลขซิมการ์ดที่มีความเสี่ยงชัดเจนมากขึ้น

Advertisment

“เลขหมายที่ไม่มาขึ้นทะเบียน กสทช.ได้ระงับการ โทร.ออกเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรับสายได้ ต้องมายืนยันตัวตนใหม่จึงจะใช้งานได้ ส่วนใหญ่เป็นซิมแบบเติมเงิน ส่วนผู้ที่ถือครองซิมตั้งแต่ 6-100 เลขหมายที่เหลืออยู่ยังมีซิมที่อยู่ในอุปกรณ์ IOT เช่น เครื่องรูดบัตร GPS Tracking และอื่น ๆ ซึ่งเราได้แจ้งและประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง แต่หลังจาก 13 ก.ค. ทุกอย่างจะแน่ชัดอัพเดตข้อมูลซิมการ์ดใหม่ทั้งหมด”

สำหรับแนวทางตรวจสอบคัดกรองเบอร์โมบายแบงกิ้งที่ผูกกับบัญชีธนาคาร มีเป้าหมายให้ชื่อผู้จดทะเบียนเบอร์ซิมเลขหมายที่ขอเปิดใช้โมบายแบงกิ้ง และเจ้าของบัญชีธนาคารต้องเป็นของบุคคลคนเดียวกัน เป็นหนึ่งในมาตรการตัดตอนบัญชีม้าที่ใช้ก่ออาชญากรรมไซเบอร์

“เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กสทช.ได้ตั้งทีมงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้แต่ละหน่วยงานแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ โดยการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกันของ กสทช.ที่มีข้อมูลผู้ถือครองซิม และธนาคารพาณิชย์ที่มีข้อมูลบัญชีธนาคารเป็นเจ้าของเดียวกันหรือไม่”

กสทช. “ณัฐธร” ระบุว่า การตรวจสอบนี้จะใช้เวลาราว 120 วัน แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ การดำเนินการจะยิ่งช้า และเมื่อนำมารวมกับข้อมูลซิมการ์ดที่อัพเดตล่าสุดจะคัดกรองได้ทั้งหมด

Advertisment

ขั้นตอนการกรองบัญชี

หลังการหารือแนวทางเสร็จ ขั้นตอนแรก ปปง.จะเป็นแม่งานประสานไปยังธนาคารพาณิชย์ทั้ง 21 แห่ง รวบรวมบัญชี (เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขหนังสือเดินทาง) พร้อมเบอร์ โทร.โมบายแบงกิ้งที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ส่งให้ ปปง.ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล

ขั้นที่สอง ปปง.รับข้อมูลเลข ID ประจำตัว และเบอร์โมบายแบงกิ้งจากธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารหัส แล้วเปิดช่องทางสื่อสารข้อมูลให้ กสทช.

ขั้นที่สาม กสทช.รับข้อมูลดังกล่าวจาก ปปง. นำเบอร์โมบายแบงกิ้งมาแยกเครือข่าย เพื่อส่งตรวจหารายชื่อผู้ถือครอง และตรวจเปรียบเทียบกับรายชื่อเจ้าของบัญชีว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แล้วแจ้งผลให้ ปปง.และธนาคารทราบ

“สำหรับโอเปอเรเตอร์ในการกำกับดูแลของเรา เห็นตรงกันว่าภาระส่วนนี้คือความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องทำร่วมกัน ชั่งน้ำหนักแล้วการเสียเวลาและต้นทุนในการคัดกรองข้อมูลเลขหมายจะยังประโยชน์แก่สาธารณะมาก”

และสำหรับสุจริตชนทั่วไป หากชื่อของท่านบนซิมการ์ดและบัญชีธนาคารไม่ตรงกัน ก็เพียงไปอัพเดตข้อมูลใหม่ให้เป็นปัจจุบันก็สามารถใช้งานต่อได้ปกติ อาจเสียเวลาบ้าง แต่ชั่งน้ำหนักแล้วจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมมากกว่า เพราะผู้ที่ไม่อยากไปยืนยันข้อมูลบัญชีมีความเสี่ยง

เมื่อคัดกรองเลขหมายและบัญชีแล้วส่งกลับไปให้ธนาคาร จะใช้เวลา 120 วันในรอบแรกนี้ ต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต้องออกเงื่อนไขการมาขึ้นยืนยันตัวตนใหม่ หากชื่อใน Mobile Banking ไม่ตรงบัญชีธนาคาร ไม่ได้หมายความว่าจะอายัดบัญชีทีเดียว ประชาชนทั่วไปยังใช้ได้ที่สาขา เพราะต้องไปยืนยันตัวตนอยู่แล้ว ส่วนกรอบเวลาจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ธนาคารตกลงกัน

ผนึกแบงก์พาณิชย์คิกออฟ

ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิมสังกาศ รองเลขาฯ ปปง. กล่าวว่า ปัจจุบันมีบัญชีต้องสงสัยว่าจะเป็นบัญชีม้าเข้าสู่ระบบราว 20,000 บัญชีต่อเดือน ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นมีบัญชีธนาคาร 130 ล้านบัญชี ผูก Mobile Banking 106 ล้านบัญชี และชื่อไม่ตรงกัน 30 ล้านบัญชี

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิมสังกาศ

“หากผลการตรวจคัดกรองพบชื่อผู้ถือครองซิมการ์ด-โมบายแบงกิ้งไม่ใช่เจ้าของบัญชี ปปง.และธนาคารจะดำเนินการต่อ โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเจ้าของบัญชีให้ดำเนินการเปลี่ยนไปใช้เบอร์ซิมการ์ดที่ตนเป็นเจ้าของ หรือเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองเบอร์เป็นชื่อตน ยกเว้นมีเหตุผลความจำเป็น เช่น การเปิดโมบายแบงกิ้งให้บุตรหลานที่เป็นเด็กเยาวชน หรือบิดามารดาผู้สูงวัย เป็นต้น”

โดยจะเริ่มคิกออฟกันตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.นี้ ที่ ปปง.กับแบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์ ต้องรวมข้อมูลแล้วส่งมา กสทช.ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2567 หากนับ 120 วัน ก็เป็นวันที่ 30 กันยายน จากนั้นเป็นหน้าที่ของแบงก์พาณิชย์และแบงก์ชาติ ในการกำหนดกรอบเวลา หรือเงื่อนไขให้ประชาชนที่ชื่อไม่ตรงบัญชีมายืนยันตัวตนปรับข้อมูลให้ตรง

เปิด API เชื่อมข้อมูลเรียลไทม์

“ณัฐธร” กล่าวด้วยว่า การเรียกข้อมูลตรวจสอบคัดกรองในปัจจุบันยังล่าช้า จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (API) เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเรียกดูข้อมูลมาเทียบกันได้เรียลไทม์ โดยไม่ต้องส่งกลับไปกลับมาระหว่างหน่วยงาน

“แม้ปัจจุบัน กสทช.พัฒนาระบบให้ตรวจสอบได้โดยง่ายผ่านแอปพลิเคชั่น 3 ชั้น และบริการ *179* เลขบัตรประชาชน# โทร.ออก เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ธนาคารตรวจสอบได้ แต่การเปิดโมบายแบงกิ้งในปัจจุบันไม่ต้องไปที่สาขา จึงต้องมีแนวทางตรวจสอบที่ครอบคลุม”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา API จะมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้รู้ว่าหน่วยงานไหนเรียกใช้ข้อมูลอะไร แต่ละหน่วยงานยังเป็นเจ้าของข้อมูลของตนเอง ทำได้แค่เรียกดูเท่านั้น API จึงเป็นเหมือนท่อเชื่อม แต่ส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณจึงจะเสนอเข้าบอร์ด กสทช.ต่อไป