ก้าวสู่ปีที่ 8 “สพธอ.” บูมอีคอมเมิร์ซ-กันภัยไซเบอร์

สุรางคณา วายุภาพ

ย่างปีที่ 8 แล้วสำหรับ “สพธอ.” สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็น 1 ใน 3 องค์กรมหาชนภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีภารกิจสำคัญในการผลักดันทั้งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซของไทย รวมถึงยังมี “ไทยเซิร์ต” ที่คอยมอนิเตอร์ภัยทางไซเบอร์ในความดูแลด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “สุรางคณา วายุภาพ” ผอ.สพธอ. ถึงผลงานที่ผ่านมาและทิศทางในอนาคต

Q : งานในปีที่ 8 

สพธอ.ได้รับมอบหมายให้ซัพพอร์ต2 หน่วยงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ใหม่ คือ การตั้งไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอเยนซี่ของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ กับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะตั้งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทั้งคู่กำลังรอเข้ากระบวนการนิติบัญญัติ รัฐบาลก็ให้เซตทุกอย่างไว้เลย ไม่ต้องรอเพราะเป็น 2 เรื่องที่รัฐบาลผลักดันเต็มตัว ฉะนั้น กฎหมาย 2 ฉบับนี้ต้องผ่านในรัฐบาลนี้แน่นอน ถ้าไม่เสร็จจะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัลได้ยากมาก เพราะไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลในเชิงบูรณาการ ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล และภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต

Q : ต้องรับคนเพิ่ม 

อัตรากำลังของไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอเยนซี่ราว 300 คน อีก 200 คนก็อยู่กับสำนักงานข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะเริ่มรับคนให้ก่อนแค่จำนวนหนึ่ง โดยช่วงต้น สพธอ.เป็นคนซัพพอร์ตระบบหลังบ้านทั้งหมดให้กับ 2 องค์กรใหม่

ส่วนไทยเซิร์ตก็จะยกให้ไปอยู่กับองค์กรใหม่ แต่ใน สพธอ.จะยังมีเซิร์ตเล็ก ๆ ไว้รับมือกับการโกงทางออนไลน์

Q : ทิศทางของ สพธอ.เอง

ถ้าเฉพาะ สพธอ.จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาบริหารงานมากขึ้น เช่น การใช้บล็อกเชนมาบริหารงานในบ้าน ใช้โรบอต แชตบอตในการตอบโจทย์งานที่เป็นรูทีนมากขึ้น ภายใต้โจทย์หลักคือการโฟกัสที่อีคอมเมิร์ซและไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในเชิงส่งเสริมอุตสาหกรรม กับการรับมือการหลอกลวงทางออนไลน์

Q : งานที่จะเห็นชัดเจนใน 1 ปี

อีคอมเมิร์ซปาร์กที่จะเป็นหน่วยอบรมบ่มเพาะบุคลากรให้กับ SMEs อีคอมเมิร์ซ หลังพบว่าขาดคนเพราะแค่ต้องผลิตสินค้าอย่างเดียวก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ในจีนมีปาร์กแบบนี้กว่า 2,000 แห่งที่จะเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะแล้วส่งคนให้ SMEs ตามที่ต้องการ SMEs ก็จ่ายเงินให้กับอีคอมเมิร์ซ ปาร์ก ทางปาร์กก็จะบริหารจัดการเงินตรงนี้ซึ่งรวมถึงจ่ายค่าแรงให้กับคนที่ส่งไปด้วย เตรียม MOU กับ มศว เพื่อพัฒนาทักษะนิสิตและให้มีรายได้ระหว่างเรียน ปีนี้น่าจะได้ราว 500 คน

แล้วจะมีไซเบอร์ซีเคียวริตี้ปาร์กที่จะดึงบริษัทใหญ่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไซเบอร์ใน EEC และดิจิทัลปาร์กและแพลตฟอร์มทุเรียนทางเลือกใหม่ของดิจิทัลคอนเทนต์ ออนไลน์คอมเพลนเซ็นเตอร์ที่ใช้ AI และโรบอตเข้ามาช่วย

Q : 7 ปีงานที่ถือว่าบรรลุผลที่ตั้งมา

การสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรม ตัวเลขสถิติต่าง ๆ ที่ทำออกมา ทั้งมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ การใช้อินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสะท้อนว่าตรงไหนคือจุดอ่อนจุดแข็งและนำไปวางแผน

นโยบายให้ถูกต้อง ซึ่งปัญหาที่พบจากตัวเลขคือการขาดคนของ SMEs จึงเป็นที่มาของอีคอมเมิร์ซปาร์ก ส่วนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ก็คือเรื่องโครงข่ายภาครัฐ ถึงได้เกิดทำโครงการ Government Monitoring System” ที่จะสร้างแนวทางรับมือและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผลักดันสร้างเซิร์ตระดับรองลงมา เช่น ไทยแลนด์แบงก์เซิร์ต

Q : โอกาสอีคอมเมิร์ซในไทย

ปีก่อนนี้คาดว่ามูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท แต่ตัวเลขจริงทะลุไปแล้ว และยังเติบโตได้อีกมาก ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยน แต่คนไทยเน้นเป็นนักช็อป ทั้ง ๆ ที่สินค้าไทยเป็นที่นิยมของหลายประเทศ แต่ SMEs ไทยมักมองเห็นแต่ปัญหา-ข้อจำกัด และรัฐยังมีช่องทางเข้าไปสนับสนุนได้อีกเยอะมาก อย่าง สพธอ.เองยึดหลักว่าอย่าได้แคร์คนอื่นว่าเขาประกาศจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเราคิดว่ามันดีมันควรต้องทำ ก็ลุยไปอย่าคิดว่าแย่งงานกัน

Q : ภัยไซเบอร์ที่ไทยถูกโจมตีเยอะ

มัลแวร์ สปายแวร์ เพราะคนชอบของฟรี ไปดาวน์โหลดโปรแกรม คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่บอกว่าฟรี แต่จริง ๆ มีของแถมที่จะเข้าไปฝังตัวในเครื่องที่ใช้ แล้วก็จะมีเรื่องที่หลงเชื่อกับการหลอกลวง เช่น ให้คลิกเพื่ออัพเกรดระบบ หรือคลิกกรอกข้อมูลส่วนตัว ก็ต้องเร่งสร้างความตระหนักในเรื่องนี้เพราะสร้างความเสียหายได้

Q : อุปสรรค 7 ปีที่ผ่านมา

ไมนด์เซตของคนทำงานในระบบราชการกับกฎเกณฑ์กติกาที่สร้างจนรุงรังเพราะกังวลเรื่องทุจริตนั่นนี่