Bulb พลังงานสะอาด ราคาประหยัด

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

ง่ายกว่า ถูกกว่า สะอาดกว่า คือคำสัญญาสั้น ๆ ของสตาร์ตอัพเล็ก ๆ “Bulb” ที่กำลังป่วนวงการพลังงานของอังกฤษในขณะนี้ Bulb เป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าและพลังงานรายย่อยที่มีจุดขายคือ 1. คิดค่าบริการไม่ซับซ้อน 2.ราคาถูก และ 3.ไฟฟ้าผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 100% จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สรุปว่าเกิดมาตอบโจทย์ทุกข้อที่ผู้ใช้ไฟในอังกฤษกำลังต้องการ ซึ่งเคยมีการสำรวจความคิดเห็นพบว่ากว่า 3 ใน 4 คิดว่าบิลค่าไฟที่มาเป็นปึก ๆ และอัดแน่นไปด้วยศัพท์แสงทางกฎหมายนั้นเป็นอะไรที่ลึกลับซับซ้อนชวนปวดหัว

บริการของผู้ประกอบการก็ไม่ได้มาตรฐาน โทร.ไปร้องเรียนก็เจอแต่เสียงรอสายหรือระบบให้ข้อมูลอัตโนมัติ เว็บไซต์ก็โบราณเหมือนหยุดพัฒนาไว้ที่ยุค 90s จึงไม่แปลกที่ยุคหนึ่งบริษัทไฟฟ้ารายใหญ่หลายราย ถึงติดอันดับบริษัทที่คนอังกฤษไม่ชอบมากที่สุด เป็นรองแค่บริษัทยาสูบกับบริษัทปล่อยเงินกู้

ร้อนถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องออกมากระตุ้นเตือนให้ช่วยออกแบบบิลให้มันอ่านง่าย ๆ พร้อมออกใบอนุญาตให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาด กระตุ้นการแข่งขันทั้งทางด้านราคาและบริการ

สบช่องให้สตาร์ตอัพอย่าง Bulb เข้ามาเจาะตลาดขโมยหัวใจลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการนำเสนอแพ็กเกจที่เรียบง่าย (ราคาเดียว) ย้ายค่ายมาใช้ได้ผ่านเว็บไซต์ ภายใน 3 นาที และมีบริการตอบข้อซักถามที่โทร.หาได้ทุกเมื่อ รับประกันได้คุยกับพนักงานที่เป็น “คน” จริง ๆ ไม่ใช่ “โรบอต” ที่พร้อมไขข้อสงสัยและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในครั้งเดียว

ที่สำคัญคือ ได้ใช้พลังงานสีเขียว สะอาด ไร้มลพิษ ในราคาที่ถูกกว่าพลังงานแบบเดิม ๆ เสียอีก

ปัจจุบัน Bulb ซื้อไฟจากโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (น้ำ ลม แสงอาทิตย์) หลายแห่ง และยังซื้อก๊าซจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้ของเหลือทิ้งมาผลิตก๊าซชีวภาพ

โดย Bulb เคลมว่าค่าไฟและค่าก๊าซที่ตัวเองขายนั้นมีราคาถูกกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ถึง 20% ซึ่งเท่ากับช่วยลูกค้าประหยัดได้สูงสุดถึงเดือนละ 300 ปอนด์

“เฮเดน วู๊ด” ผู้ก่อตั้งบอกว่า จากประสบการณ์ที่คลุกคลีในวงการพลังงานในฐานะที่ปรึกษามา เขาพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการควบคุมค่าใช้จ่าย ไปจนถึงมาตรฐานการให้บริการและการกำหนดราคา อย่างราคา green energy ที่ต้นทุนสูงกว่าพลังงานปกติไม่มาก แต่ถูกตั้งราคาให้สูงขึ้นกว่า 25% ทำให้คนไม่กล้าใช้

พอมาตั้งบริษัทตัวเอง เขาเลยลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากที่สุด อะไรที่พอจะทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ ก็ลงทุนทำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัว ทั้งลดต้นทุนระยะยาว

ส่วนการทำมาร์เก็ตติ้งก็ใช้โซเชียลมีเดียและวิธีบอกต่อเป็นหลัก ไม่ต้องเสียตังค์ไปซื้อโฆษณาแพง ๆ อย่างโปรฯ “เพื่อนชวนเพื่อน” ที่ทั้งตัวเองและเพื่อนก็ได้เครดิตใช้บริการฟรีคนละ 50 ปอนด์ถือว่าฮิตมาก เปิดตัวมาได้ไม่กี่เดือนกวาดลูกค้ามาได้กว่าแสนราย

วิธีเหล่านี้ทำให้ Bulb ขายพลังงานทางเลือกในราคาที่คนเอื้อมถึง และบริษัทก็พออยู่ได้ อาจไม่ถึงกับมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เน้น “กินคำน้อย ๆ แต่กินนาน ๆ” คือยอมมีกำไรน้อยหน่อย และเอาส่วนต่างนั้นไปลดราคาให้ลูกค้า ด้วยหวังว่าจะสร้างคอมมิวนิตี้ที่สมาชิกอยากอยู่ด้วยนาน ๆ

“Bulb” ใช้เวลาแค่ 3 ปีก็โกยลูกค้าได้กว่า 3 แสนราย หรือ1% ของตลาด ปัจจุบันทีมงานขยายจาก 6 คน เป็น 100 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นพนักงานที่ได้รับการอบรมมาเป็นพิเศษเพื่อตอบคำถามลูกค้าโดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทยอมลงทุนตรงนี้ เพราะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้เร็วและมีประสิทธภาพกว่าการ outsource คอลเซ็นเตอร์ภายนอก แถมยังช่วยเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มผู้ใช้บริการทำให้ได้เป็น The most trusted energey supplier โดยได้ไป 9.7 จาก 10 คะแนนเต็มจาก Trustpilot เว็บไซต์รีวิวและจัดเรตติ้งบริการต่าง ๆ