กสทช.ตื่นทวงเงินค่ายมือถือ 3ยักษ์ดึงเกมจ่ายรัฐหมื่นล้าน

กสทช.ตื่น ทวง “รายได้+ดอกเบี้ย” ค่าเปิดบริการหลังสิ้นสุดสัมปทาน “ทรูมูฟ-DPC-AIS” ยื้อจ่าย 5 ปี หมื่นกว่าล้านบาท เอกชนรุมฟ้องศาลปกครอง จับตามติบอร์ด เตรียมเปิดทาง “ดีแทค” ขอเข้าขบวนเยียวยา 

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 5 ก.ย.นี้จะมีวาระพิจารณา “การขอใช้มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน (15 ก.ย.2561) ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)”พร้อมกับรับทราบมติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ที่สรุปยอดเงินที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน (DPC) จำกัด (ในเครือAIS) ต้องนำส่งเข้ารัฐเพิ่มเติมจากการเปิดให้บริการชั่วคราวหลังสิ้นสุดสัมปทาน ตั้งแต่ 15 ก.ย. 2556

5 ปีไม่มีข้อสรุปเงินส่งรัฐ 

“เดิม กสทช.ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการในระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต ให้มีเวลาย้ายไปใช้ค่ายมือถือรายอื่นได้ ก่อนที่จะซิมดับ จึงได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเรียกกันว่า”ประกาศเยียวยา” เพื่อให้ผู้ให้บริการที่สัมปทานหมดแล้ว แต่ยังมีลูกค้าเหลือในระบบต้องเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวไปก่อน แต่เงินรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวต้องหักค่าใช้จ่ายแล้วนำส่งเข้ารัฐซึ่งตอนนั้นทั้งคู่เปิดให้บริการยาวไปอีก 2 ปี คือทรูมูฟตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556-3 ธ.ค. 2558 และ DPC ถึง 25 พ.ย.2558″

แต่ผ่านมา 5 ปีแล้ว “ทรูมูฟ-DPC” ยังไม่เคยนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐเลย เช่นเดียวกับเงินรายได้จากช่วงการเยียวยาลูกค้าของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)ที่เปิดให้บริการหลังสิ้นสุดสัมปทานตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558-30 มิ.ย. 2559 ที่ก็ยังไม่ส่งเข้ารัฐโดยแจ้งเหตุผลว่าเพราะตัวเลขเงินรายได้-รายจ่ายที่เอกชนสรุปออกมาไม่ตรงกับตัวเลขของ กสทช.

ตื่นทวงรายได้หมื่นกว่าล้าน 

โดยคณะทำงานตรวจสอบที่ กสทช.ตั้งมาชุดแรกได้สรุปตัวเลขที่ “ทรูมูฟ” ต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินอยู่ที่ 13,989.24 ล้านบาท “DPC” อยู่ที่ 879.59 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าเช่าใช้โครงข่ายที่ทั้งคู่ต้องจ่ายให้กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือแคท)จนนำไปสู่การตั้งคณะทำงานชุดใหม่เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง และเมื่อ 13 ส.ค. 2558บอร์ดสายโทรคมนาคมของ “กสทช.” ได้มีมติให้ออกคำสั่งให้ทั้ง 2 บริษัทนำส่งรายได้จากมาตรการเยียวยางวดแรก (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) โดย “ทรูมูฟ”ต้องจ่าย 1,069.98 ล้านบาท DPC ต้องจ่าย 627.64 ล้านบาท แต่ทั้งสองบริษัทขอให้ กสทช.ทบทวน เนื่องจากการให้บริการในช่วงเยียวยามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จนกระทั่งปลายปี 2558 ทั้งสองบริษัทยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ส่งผลให้การลงมติเรียกเงินรายได้จากมาตรการเยียวยาในช่วงที่เหลือหยุดชะงักไป ก่อนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะทำหนังสือทวงถามการนำส่งเงินเข้ารัฐ จึงได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ที่ดึง สตง.เข้ามาพิจารณาด้วย แต่ก็ยังสรุปตัวเลขรายรับ-รายจ่ายไม่ตรงกัน ทำให้ตั้งแต่ 13 ส.ค. 2558 จนถึง ส.ค. 2561 กสทช.ไม่เคยมีคำสั่งให้ทั้ง “ทรูมูฟ-DPC” นำส่งรายได้เลย

เอกชนไม่จ่าย-ฟ้องศาล

แหล่งข่าวระดับสูงภายใน กสทช.เปิดเผยว่า เมื่อ 29 ส.ค. 2561 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคมเพิ่งมีมติให้”ทรูมูฟ”ต้องนำส่งเงินรายได้ช่วงเยียวยาฯเข้ารัฐเพิ่มเติมอีก 3,381.95 ล้านบาท “DPC”จำนวน 869.51 ล้านบาท เนื่องจากฝ่ายกฎหมายท้วงติงว่า หากไม่มีคำสั่งให้เอกชนจ่าย จะทำให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าไม่ได้ และรัฐจะเสียประโยชน์เพิ่ม

“จริง ๆ ควรจะมีมติออกมาก่อนนี้ เพราะไม่ว่า กสทช.จะสรุปตัวเลขอย่างไรก็ไม่ตรงกับเอกชน สุดท้ายก็ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครองให้ชี้ขาดอยู่ดี เท่ากับว่า กสทช.ปล่อยให้เวลายืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญเพิ่งจะมาคิดดอกเบี้ยชำระล่าช้าได้ด้วย”

ขณะที่ทางฝ่ายผู้รับสัมปทาน “AIS” ซึ่งไม่ควรจะมีปัญหา เพราะก่อนสิ้นสุดสัมปทาน “กสทช.” ได้แก้ประกาศเยียวยาใหม่ โดยระบุว่า ให้นำส่งเงินรายได้จากช่วงเยียวยาลูกค้าในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานปีสุดท้าย (AIS จ่าย 30% ของรายได้ให้ทีโอที) แต่สุดท้ายก็มีปัญหา เพราะเมื่อ กสทช.มีคำสั่งให้นำเงินรายได้จาก AIS จำนวน 7,221 ล้านบาท ส่งเข้ารัฐ AIS ก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อ 1 พ.ค. 2560 เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่า การให้บริการในช่วงเยียวยา บริษัทมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงไม่มีรายได้ส่วนต่างที่เหลือจะนำส่ง

ดีแทคร่วมขบวนยื้อจ่ายเงินรัฐ 

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า “ดีแทคพยายามจะขอใช้สิทธิ์เข้าสู่ช่วงเวลาเยียวยาเหมือนค่ายอื่น ๆ โดยระบุว่า ยังเหลือลูกค้าอีก 4 แสนรายในโครงข่ายสัมปทานเดิม ทั้งยังระบุถึงช่วงเวลาที่ต้องใช้เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ถึง 2 ปีในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ตามปกติช่วงเยียวยาจะสิ้นสุดเมื่อผู้ชนะประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานนำเงินประมูลคลื่นงวดแรกมาชำระ โดยดีแทคอ้างว่า ยังมีคลื่นภายใต้สัมปทานที่ยังไม่ถูกประมูลออกไป สามารถนำมาใช้งานได้ นี่จะยิ่งกลายเป็นการเปิดประเด็นปัญหาหรือไม่ เป็นเรื่องที่บอร์ด กสทช. จะต้องตัดสินใจในการประชุม 5 ก.ย.นี้ ก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด”

ดังนั้นมติบอร์ด กสทช.ที่จะเกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาเงินรายได้ตามยอดที่คณะทำงานตรวจสอบของ กสทช.สรุปให้บอร์ดมีมติเรียกจาก “ทรูมูฟ-DPC-AIS” รวมกว่า 14,000 ล้านบาท ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ารัฐเมื่อใด