กสทช.เข็นสารพัดวิธีดัน5G ค่ายมือถือย้ำประมูลล่วงหน้าไม่เมกเซนส์

กสทช.ปักธงปี”62 ประมูลคลื่นหนุน 5G เร่งทบทวนราคา-งวดจ่ายเงิน ฟากค่ายมือถือยิ้มร่า แต่ยังไม่คอนเฟิร์มจะโดดลงเคาะราคาหรือไม่ แถมชี้ “ไม่เมกเซนส์” ประมูล 700 MHz ล่วงหน้าเป็นปีกว่าจะได้ใช้งานจริง ย้ำเรียกคืนคลื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้านช่องทีวีดิจิทัล-MUX กังวลนโยบายรีฟาร์มคลื่น แถมงงทำไมเลือกยุบ MUX กองทัพบกแทนกรมประชาสัมพันธ์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญในปี 2562 ของ กสทช. คือ การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ภาครัฐเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนเท่านั้น กสทช.จึงต้องปลดล็อกปัญหาสร้างแรงจูงใจให้เอกชนตัดสินใจลงทุน

ดังนั้น จะทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่ทั้งหมดเพื่อสะท้อนความต้องการใช้งานที่แท้จริง รวมถึงทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นเดิมด้วย ทั้งในการประมูลคลื่นต่อจากนี้จะใช้การประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน (multiband) อาทิ ย่าน 700 MHz คู่กับย่าน 26 GHz คลื่น 1800 MHz คู่กับ 28 GHz และจะมีการแบ่งรูปแบบใบอนุญาตออกเป็นใบอนุญาตแบบให้บริการทั่วประเทศ (nation wide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (specific area) เช่นในพื้นที่ EEC

นอกเหนือจากการเจรจากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้พื้นที่สยามสแควร์ ตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในปี 2562- 2563 เพื่อให้เอกชนที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ทดสอบระบบและแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้

พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเริ่มที่ย่าน 2600 MHz ซึ่ง บมจ.อสมท ถือครองอยู่เป็นย่านแรก และคาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้ภายใน ก.พ. ปี 2562

ขณะเดียวกัน จะเร่งแก้ปัญหาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ด้วยการยืดเวลาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการนำส่งสัญญาณรายการเผยแพร่ผ่านดาวเทียมตามประกาศ Must Carry ของ กสทช. และค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลอีก 50% จนถึงปี 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช. ในปี 2562 รวมถึงการจัดทำระบบสำรวจความนิยม (rating) ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัลที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อนำไปอ้างอิงในการหารายได้จากโฆษณา

ที่สำคัญคือ ปรับปรุงการใช้งานคลื่น 700 MHz (รีฟาร์มมิ่ง) ซึ่งช่องทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ ให้นำไปใช้งานด้านโทรคมนาคมภายในปี 2563 ตามข้อตกลงการใช้งานคลื่นกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แล้วย้ายผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปใช้งานในย่านความถี่ 470 MHz แทน

“ภายในปี 2562 จะพยายามจัดประมูลสิทธิ์การใช้งาน 700 MHz ล่วงหน้าให้ได้ จึงต้องปลดล็อกปัญหาให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสนใจมาเข้าร่วมประมูลด้วย ก็จะมีเงินรายได้จากการประมูลนำไปช่วยเยียวยาผู้ประกอบการฝั่งบรอดแคสต์ให้อยู่รอดได้ดีขึ้น”

ประมูลล่วงหน้าไม่เมกเซนส์

ด้านแหล่งข่าวภายในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตัดสินใจจะทบทวนมูลค่าคลื่น และงวดการจ่ายเงินประมูลคลื่นเดิม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากยังยึดมั่นว่า ลดราคาคลื่นไม่ได้ ก็จะไม่มีเอกชนรายใดลงทุน 5G ได้อีก เพราะทุกรายมีภาระต้องจ่ายเงินประมูลคลื่นรวมกันกว่า 2.3 แสนล้านบาท เฉพาะที่ต้องจ่ายในปี 2563 มีกว่า 1.38 แสนล้านบาท จึงแทบจะไม่มีสภาพคล่องเหลือแล้ว ยิ่งถ้าลงทุน 5G ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้คลื่นกว่า 100 MHz มาให้บริการ ซึ่งถ้ายังคงราคาคลื่นเท่าเดิม แต่ละโอเปอเรเตอร์ต้องใช้เงินเฉพาะค่าคลื่นกว่า 5 แสนล้านบาท

“แต่ถึง กสทช.จะมีการปรับลดเงื่อนไขให้แล้ว ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ค่ายมือถือจะเข้าประมูลคลื่นที่จะจัดขึ้นในปี 2562 เพราะต้องดูว่าเงื่อนไขใหม่ช่วยให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นแค่ไหน ที่สำคัญคือ แนวคิดที่จะให้จ่ายเงินประมูลคลื่น 700 MHz ล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2562 แต่กว่าจะได้ใช้คลื่นจริง ๆ ต้องรอถึง มี.ค. 2563 หลังสัมปทานทีวีช่อง 3 แอนะล็อกสิ้นสุด เป็นเรื่องที่ไม่เมกเซนส์ในการลงทุนเลย”

เรียกคืนคลื่นไม่ง่าย

ที่สำคัญคือ กสทช.จะวางแผนจัดสรรคลื่นให้เพียงพอที่แต่ละโอเปอเรเตอร์จะให้บริการ 5G ได้หรือไม่ อย่างย่าน 2600 MHz ที่จะเรียกคืนเป็นย่านแรก ก็จะพอใช้แค่โอเปอเรเตอร์รายเดียว เพราะต้องแยกแถบคลื่น up link และ down link ทั้ง บมจ.อสมท ที่ถือครองคลื่นอยู่ 140 MHz ยืนยันมาตลอดว่า ต้องจ่ายเงินเยียวยา แม้ว่าจริง ๆ แล้วบริการบรอดแบนด์ทีวีของ อสมท ยังไม่ได้เปิดให้บริการเลย จึงเป็นเหมือนเดินเกมต่อรองค่าเยียวยาคลื่นไว้ล่วงหน้าแล้ว กสทช.จะไม่มีทางได้คลื่นคืน ถ้า อสมท ไม่ได้เงินเยียวยาเท่าที่พอใจ แต่ถ้า กสทช.ให้เงินเยียวยาในจำนวนมากเกินไป ก็เสี่ยงจะมีปัญหากับ สตง. รวมถึงถูกฟ้องว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์ได้

เล็งเยียวยา “ททบ.” ปิด MUX

ส่วนคลื่น 700 MHz ที่จะรีฟาร์มใหม่ แหล่งข่าวในวงการบรอดแคสต์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) กังวลมาก เพราะหมายถึงต้องลงทุนใหม่ในหลายอุปกรณ์ ทั้งที่เพิ่งติดตั้งอุปกรณ์หลังประมูลช่องมาได้ในปลายปี 2556 และแต่ละช่องยังมีสถานะทางการเงินไม่มั่นคง

“ช่องทีวี และ MUX กังวลมาก ยังไม่มีใครเห็นร่างหลักเกณฑ์ใด ๆ ที่จะนำมาใช้ แต่ กสทช.กลับประกาศว่า จะเรียกรีฟาร์มและจะเปิดประมูลคลื่นใหม่ในปี 2562”

ที่สำคัญคือ มีการระบุถึงแนวคิดที่จะปิดการให้บริการ MUX ของกองทัพบก ที่ปัจจุบันมี 2 โครงข่ายให้เหลือโครงข่ายเดียว โดย กสทช.จะจ่ายเงินค่าเยียวยาให้กองทัพบก ยิ่งทำให้ช่องที่ใช้บริการ MUX ของกองทัพบกกังวลถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค กล่าวว่า แนวคิดจะยุบ MUX ของกองทัพบก ยังไม่ได้ข้อสรุปทางการ ส่วนเหตุผลที่ทำไมไม่เลือกยุบ MUX ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่มีช่องทีวีอื่นใช้งานอยู่แทน เนื่องจาก MUX ของกรมประชาสัมพันธ์ ออกแบบมาเพื่อรองรับการให้บริการช่องทีวีดิจิทัลประเภทบริการชุมชน ซึ่งตาม พ.ร.บ.กสทช.กำหนดให้ต้องมีผู้ประกอบการประเภทดังกล่าว

“ยังไม่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วช่องทีวีดิจิทัลประเภทบริการชุมชนจะมีการออกใบอนุญาตให้หรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันขนาดช่องบริการธุรกิจที่หารายได้ได้ ยังอยู่กันยาก แต่ถ้ายุบ MUX กรมประชาสัมพันธ์ไป ก็เท่ากับว่าช่องทีวีกลุ่มนี้จะไม่มี MUX ให้ใช้แน่ ๆ ซึ่งการจะยืนยันว่าไม่มีช่องชุมชนแล้ว ก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ เพราะตาม พ.ร.บ.กำหนดไว้เลยว่าต้องมี”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

#อ่านประชาชาติ #prachachat