Smart Historic 4.0 โบราณสถานบรรจบเทคโนโลยี

ท่ามกลางเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายภาคส่วนในไทยตื่นตัวนำมาปรับใช้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มี “โบราณสถาน-โบราณวัตถุ” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA), มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ได้นำ 2 สิ่งนี้มาเป็นโจทย์ในการประชันทักษะด้านสมองกลฝังตัว (embedded system) ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 13 Top Gun Rally 2019 ในหัวข้อ Smart National Historic Site 4.0 : Art & Cultural Con-servation & Tourism Information System (การจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0) โดยความร่วมมือของกรมศิลปากร

“สถาพร เที่ยงธรรม” ผู้อำนวยการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีโบราณสถานเกือบหมื่นแห่ง ซึ่งกรมศิลปากรอาจไม่ได้ดูแลบางแห่ง เนื่องจากมีเจ้าของครอบครอง เช่น วัด ส่วนราชการ ภาคเอกชน แต่โดยภาพรวมกรมศิลปากรต้องกำกับดูแลและอนุรักษ์

ภารกิจของกรมศิลปากร ดูแล 4 ด้าน ได้แก่ งานวรรณคดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, งานด้านภาษา หนังสือ วรรณกรรม, งานด้านนาฏศิลป์และดนตรี และงานด้านช่างสิบหมู่และสถาปัตยกรรม ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วในหลายส่วน อาทิ การสำรวจพื้นที่ สำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ใช้เทคนิค 3D สแกน, เครื่องมือการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าในแนวดิ่ง, อากาศยานสำรวจสภาพโดยทั่วไป เก็บข้อมูลนำมาแปลงเป็นแบบเพื่อช่วยเก็บหลักฐานโบราณสถาน รวมถึงออกแบบบูรณะ เป็นต้น ด้านฐานข้อมูลโบราณสถานใช้ความรู้ GIS หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาช่วย เข้าไปเว็บไซต์เรียกดูรายละเอียดโบราณสถาน 9,000 แห่ง มี virtual museum ตามพิพิธภัณฑสถาน มี QR, AR นำชมโบราณสถาน-โบราณวัตถุ

ทั้งมีหน้าที่เฝ้าระวังโบราณสถาน-โบราณวัตถุศิลปกรรม อาคารไม้ ปูน จิตรกรรมฝาผนังที่อาจมีสิ่งก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น แรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง ความดังของเสียง ความชื้น

สำหรับโจทย์ Smart National Historic Site 4.0 ให้คนรุ่นใหม่นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้จัดการโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรจะนำไปต่อยอดได้

ด้าน “ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ” นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทยกล่าวว่า การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่กระทบต่อความเสื่อมต่อโบราณสถาน ซึ่งการจัดแข่งขันเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้ฝึกดำเนินการอนุรักษ์หรือพัฒนาโบราณสถาน มีพระราชวังสนามจันทร์เป็นต้นแบบ

“ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า การแข่งขันทักษะด้านสมองกลฝังตัว ต้องมีการส่งผ่านข้อมูลไปยังระบบประมวลผล CAT ใช้โครงข่าย LoraWan (Low Power Wide Area Network) เป็นตัวเชื่อมต่อให้ ใช้พลังงานต่ำรัศมีทำการไกล ส่งต่อข้อมูลไปยังดาต้าคลาวด์ พร้อมนำเครื่องมือบน cloud IRIS สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของผู้เข้าแข่งขัน

“เทคโนโลยีเราเอาเงินใส่ลงไปมันมีวันล้าสมัย แต่คนเป็นทรัพยากรสำคัญ CAT เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะนักศึกษา นักพัฒนารุ่นใหม่ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ดีไซน์ในไทย”

โดยปีนี้ CAT จะขยายเครือข่าย LoraWan ให้ครอบคลุมทั่วประเทศและกลางปี 2562 จะเปิดให้บริการ big data assist service บริการให้ข้อมูลและคำปรึกษา ทั้งจะสร้างทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพิ่มอีกจำนวนมาก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!