“ฐากร” ขอ คสช. ใช้ ม. 44 ยืดจ่ายค่างวด 900 MHz-เอไอเอส ทรู ดีแทค แท็กทีมกำเงินประมูล 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาคำร้องที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในกลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค ขอขยายระยะเวลาการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดยมีผู้แทนจากค่ายมือถือทั้ง 3 บริษัท อาทิ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไอเอส อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทดีแทค ตัวแทนจากสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ผู้แทนของพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีร่วมหารือด้วย

นายฐากรกล่าวว่า ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายต้องการขยายเวลาการชำระเงินออกไปเป็นปี 63 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 5 G เพราะถ้าไม่มีการขยายออกไป เขาไม่มีเงินมาประมูลแล้ว เพราะเงินยังลงทุนในระบบ 3 G และ 4 G เพราะเพิ่งเปิดให้บริการ จุดคุ้มทุนต่าง ๆ ยังไม่มี

“วันนี้เป็นเพียงความเห็นออกมาก่อน ซึ่งเขาได้เล่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เขาจึงอยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลก็พยายามขับเคลื่อนเรื่อง 5 G รวมถึงเรื่องช่วยเหลือทีวีดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นด้วย ถ้าเราประมูลคลื่น 700 MHz ประมูลคลื่น 2600 MHz แล้วไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ที่เราอยากให้การประมูล 5 G เกิดขึ้น มันก็ไม่เกิด นี่คือสิ่งซึ่งเขาพยายามบอก วงเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ที่ธนาคารกำหนดไว้เต็มหมดแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน”

เมื่อถามว่า แต่ถ้ารัฐบาลช่วยผ่อนผันเขาก็จะมีเงินมาลงทุนได้ นายฐากรกล่าวว่า ผมมั่นใจว่า เขาต้องลงทุน เขาบอกว่าการลงทุน 5 จี แต่ละค่ายต้องใช้เงินลงทุนหลักแสนล้านเพราะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในการติดตั้งเสาสัญญาณ ถ้ารวมกับค่าประมูลใบอนุญาต 5 G ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าจะประมูลเท่าไร แต่ถ้ารวมก็หลัก 2 แสนล้านบาท แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพยายามอธิบายในห้องประชุม เราก็รับฟัง

“กสทช.ให้ข้อมูลประกอบการรับฟัง ว่า ถ้าไม่มีการขยายเวลาการชำระเงินให้เขาและ 5 G ไม่เกิดขึ้น จะกระทบต่อประเทศอะไรบ้างในภาพรวม เช่น ภาคการผลิตล้าหลังกว่าประเทศอื่น เวียดนาม มาเลเซีย การใช้ IoT AI สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทฟาร์มิ่ง ไม่เกิดขึ้น เมื่อส่งผลกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมทำให้สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ประเทศไทยจะล้าหลังกว่าประเทศอื่น ถ้าเอามาชั่งน้ำหนักทั้งสองส่วนอันไหนดีกว่ากันค่อยมาว่ากัน ให้โอเปอร์เรเตอร์โทรคมนาคมอธิบายก่อน”

“3 G เราล้าหลังกว่าประเทศอื่น 10 ปี พอเปิดให้บริการ 4 G เราล้าหลังกว่าประเทศอื่น 8 ปี แต่เมื่อเราเปิดให้บริการทั้ง 3 G และ 4 G แล้ววันนี้ เราใช้งานก้าวกระโดด ทำให้เราใช้งานได้เร็วขึ้น จนมาวันนี้ จะเป็น 5 G เรากำลังนำหน้าประเทศอื่นในอาเซียนด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราสะดุดลง เราอาจจะต้องล้าหลังอีก 1-2 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าประเทศอื่นเปิดให้บริการอยู่ แต่เราไม่เปิด ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศเราแน่นอน ถ้าเรายังทำช้าอยู่”

“การเปิดบริการ 3 G 4 G ช้า ทำให้จุดคุ้มทุนของโอเปอร์เรเตอร์เขาช้าตามไปด้วย เพราะว่าเข้าเพิ่งเปิดมา 2-3 ปีเอง จุดคุ้มทุนเขาเลยช้า แต่จุดคุ้มทุนของประเทศอื่น เขาเปิดมาเป็น 10 ปีแล้ว เขามีจุดคุ้มทุนที่จะเกิด 5 G ต่อไปได้แล้ว”

เมื่อถามว่าการตัดสินใจช่วยเหลือของรัฐบาล ควรมีระยะเวลาหรือไม่ นายฐากรกล่าวว่า แล้วแต่รัฐบาลตัดสินใจ วันนี้กสทช.เพียงให้ข้อมูล แต่หลายภาคส่วนคงไม่เห็นด้วย แต่เรากำลังอธิบาย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราไม่ได้ว่าอะไร เพราะโอเปอร์เรเตอร์ชี้แจงแล้วว่า ไม่ว่าจะขยายระยะเวลาชำระเงินออกไปหรือไม่ ยังไงก็มีเงินชำระหนี้แน่นอน แต่เมื่อไม่มีเงินมาลงทุนแล้ว 5 G ไม่เกิดขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบ ดังนั้น รัฐบาล กสทช. จะไปตำหนิเอกชนก็ไม่ได้ ในเมื่อไม่มีการช่วยเหลือเลย

เมื่อถามว่า ต้องออกมาตรา 44 ใช่หรือไม่ นายฐากรกล่าวว่า มีอย่างเดียว อย่างอื่นทำไม่ได้

เมื่อถามว่า จะประมูล 5 G เมื่อไร นายฐากรกล่าวว่า ภายในปีนี้ และเปิดบริการปลายปี 63

เมื่อถามว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจเมื่อใด นายฐากรกล่าวว่า คิดว่าต้องก่อนเลือกตั้ง ทั้งนี้ นายวิษณุขอรวบรวมข้อมูลก่อนและจะเรียกหารืออีกครั้ง

ด้านนายวิษณุ เปิดเผย ว่า ทั้ง 3ค่ายมือถือได้ขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาต คลื่น 900 MHz ออกไป เพื่อจะได้มีเงินสำหรับเตรียมพร้อมการประมูลคลื่นความถี่ 5 G อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปและยังไม่ได้ตกลงอะไร เป็นการรับฟังเท่านั้นและจะนัดมาคุยอีก ส่วนการช่วยเหลือกำลังดูว่ามีวิธีอื่น ที่นอกเหนือจากการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 หรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะช่วยมากหรือน้อยแค่ไหน หากช่วยน้อยก็ไม่ต้องใช้มาตรา 44 หากช่วยมากก็คงต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งข้อเสนอของเอกชนก็มีเงื่อนไขหลายอย่างและแต่ละค่ายก็เงื่อนไขต่างกัน ในส่วนรัฐเองก็มีเงื่อนไขด้วยก็ให้เอกชนกลับไปคิดดู แล้วนัดเจอกันอีกครั้ง