ดุเดือด! โกเจ็กปั้น GET บุกไทย เล็งเปิดวอลเลต “แกร็บ” ควงพันธมิตรสู้

โกเจ็กสตาร์ตอัพยูนิคอร์นบุกไทย ส่ง “เก็ท” รุกตลาด เดินหน้าเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้สู่ออนไลน์ ฟาก “แกร็บ” ไม่หวั่นไหว ลุยจับมือพาร์ตเนอร์ขยายตลาด ปูพรมปักหลักตลาดไทย

นายนาดีม มาคาริม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “โกเจ็ก” สตาร์ตอัพซูเปอร์แอประดับยูนิคอร์นจากอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า มองเห็นโอกาสในการลงทุนในไทย เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับตลาดอินโดนีเซีย อาทิ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ทุกวัน ชื่นชอบการหาของกินที่อร่อย ทั้งยังได้เจอทีมงานของ “เก็ท” ที่มีศักยภาพ จึงเข้าลงทุนและสนับสนุนด้านองค์ความรู้ แต่จะปล่อยให้เก็ทตัดสินใจด้วยตัวเอง

ปัจจุบันโกเจ็ก ให้บริการแล้วใน 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์เป็นบริการเรียกรถยนต์ เวียดนามและไทยบริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ ส่วนฟิลิปปินส์เป็นบริการเพย์เมนต์ ยังไม่มีบริการโมบิลิตี้

“จะขยายไปในประเทศอื่นตอบไม่ได้ว่าไปเมื่อไหร่ แต่ไปเร็วแน่นอน”

ปักธงเป็น “ไลฟ์สไตล์แอป”

ด้านนายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เก็ท กล่าวว่า เก็ท (GET) วางตัวเป็นไลฟ์สไตล์แอป รวมบริการทุกอย่างที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ 2 เดือนที่ผ่านมาได้ทดลองให้บริการ 3 บริการคือ 1.GET WIN 2.GET DELIVERY ส่งของใน 1 ชั่วโมง และ 3.GET FOOD บริการส่งอาหาร โดยให้บริการครอบคลุมแล้ว 80% ของกรุงเทพฯ ภายในไตรมาส 1 จะครบทั้ง 100% ทั้งยังมีพาร์ตเนอร์วินมอเตอร์ไซค์ 10,000 ราย มีพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร 20,000 ร้านทั่วประเทศ ที่ผ่านมามีการใช้งานกว่า 2 ล้านครั้ง มียอดดาวน์โหลด 2 แสนครั้ง

“จุดแข็งเก็ทคือ ความโลคอลไลซ์ พูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์ ภาครัฐ และเอกชน เพื่อหาความต้องการ และย้ำว่าเก็ทถูกกฎหมาย จะใช้งานเฉพาะกับวินรถที่ถูกกฎหมายเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีระดับโลกที่ใช้งานง่ายและมีอีวอลเลต ให้คนขับก็ถอนเงินได้ 2 ครั้งต่อวัน รวมทั้งปรับปรุงแผนที่เพื่อสื่อสารให้ง่ายขึ้น ส่วนของการสั่งอาหารสามารถค้นจากชื่อเมนูได้ รวมทั้งแนะนำร้านตามช่วงเวลา และร้านที่ใกล้เคียงกับอาหารที่สั่งบ่อย ที่สำคัญคือให้ลูกค้าได้รับบริการที่คุณภาพดีราคาถูก พาร์ตเนอร์มีรายได้มากขึ้น สวัสดิการดีขึ้น และชุมชนแข็งแรง ส่งเสริม SMEs เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่มาร์เก็ตแชร์ แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

ชี้ตลาดยังเป็น “บลูโอเชียน”

“สุดท้ายเก็ทต้องการเป็นซูเปอร์แอปที่รวบบริการทั้งหลาย ในปีนี้จะเปิดบริการ GET PAY ด้วย ซึ่งการแข่งขันที่สำคัญคือ การสู้กับตลาดออฟไลน์และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค มากกว่าจะแข่งขันกันเอง ตลาดนี้ยังเป็นบลูโอเชียน”

ตลาด “ride hailing” และบริการสั่งอาหารผ่านแอปยังเล็กมาก ขณะที่ความต้องการผู้บริโภคยังสูง จึงยังมีส่วนแบ่งตลาดให้กับทุกราย แม้จะคู่แข่งเยอะ โดยเก็ทจะรุกหนักทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะสื่อ out of home เพราะเป็นบริการ O2O รวมทั้งมีสิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดพาร์ตเนอร์คนขับ อาทิ มีเงินสะสม เงินออมประจำปี ในส่วนของร้านอาหาร มีการทำโปรโมชั่น และช่วยวิธีการจัดการลูกค้า เพื่อเพิ่มทรานแซ็กชั่นและฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้ร้าน

ปัจจุบัน GET WIN มีการใช้บริการกว่า 70% ส่วน GET FOOD กำลังมาแรง ขณะที่ 90% ใช้งานในย่านกลางกรุง ระยะเวลาในการเรียกเฉลี่ยไม่เกิน 10 วินาที เฉลี่ยรับอาหาร 15 นาที

“ยังไม่มองหาทุนเพิ่ม ที่โกเจ็กลงทุนมา มากพอจะทำให้ประสบความสำเร็จ”

แกร็บสู้ไม่ถอย

ด้านนายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่เก็ทเข้ามาในตลาดไทยเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผู้ใช้ได้มีตัวเลือก สามารถเปรียบเทียบคุณภาพได้ในทุกด้าน ซึ่งในไทยแกร็บให้บริการแล้วใน 18 เมือง 16 จังหวัด และยังใช้บริการได้ทั่วอาเซียน เป็นจุดแข็งที่คู่แข่งทำไม่ได้ ทั้งการมีพาร์ตเนอร์หลากหลาย จึงมีบริการที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น แม้ช่วงแรกน่าจะเน้นแข่งราคาเป็นหลัก ก็เป็นกำไรให้ผู้บริโภค แต่ลูกค้าก็ยังมองที่ความเร็วและแน่นอนของบริการเป็นหลัก

“เราต้องการอยู่ในตลาดไทยอีกนาน กลยุทธ์จึงเน้นจับมือกับพาร์ตเนอร์ เช่น BNK48 ล่าสุดจับมือกับ ททท. ทั้งเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมชาติไทย และยังได้รับการลงทุนจากเคแบงก์และเครือเซ็นทรัล เราทำงานร่วมกันเป็นอีโคซิสเต็ม ต่างจากคู่แข่ง เพราะเรียนรู้แล้วว่าการไปกับพาร์ตเนอร์ดีกว่าไปคนเดียว”

ในส่วนของความท้าทายมองว่ากฎหมายก็เป็นหนึ่งในความท้าทาย แต่มีแนวโน้มที่ดี จะเห็นว่าแกร็บร่วมงานกับหลายหน่วยงานในภาครัฐอย่างเปิดเผย ทั้ง ททท. กรมแรงงาน รวมทั้งนโยบายหาเสียงของพรรคต่าง ๆ ก็หยิบยกประเด็นของการทำแกร็บให้ถูกกฎหมายเป็นนโยบายหาเสียง เพราะตอนนี้แกร็บกลายเป็นกระแสสังคม

“ก็หวังว่าหลังการเลือกตั้งนี้จะมีความชัดเจนขึ้น ในส่วนความท้าทายอื่น ๆ มองว่าเป็นเรื่องของการปรับปรุงบริการให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพราะความคาดหวังของลูกค้ามีสูงมากขึ้น ดังนั้นความท้าทายคือ การดูแลลูกค้าให้ดีให้เป็น everyday app ของลูกค้า และเพิ่มรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ คือ เป้าหมายหลักของแกร็บ”