ปั้น “นวัตกร” ป้อนธุรกิจ สลัดภาพรับจ้างผลิตดันโตยั่งยืน

เป็นปัญหาในวงการไอซีทีที่ถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงหาทางแก้ไขมานาน สำหรับการ “ขาดแคลน” บุคลากร และ “นวัตกรรม” ที่คนไทยสร้างขึ้นเอง

ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ผู้บริโภค รวมถึงการนำงานวิจัยลงมาจากหิ้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ “สจล.” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยการนำงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนักศึกษากว่า 400 ชิ้น ใน 20 สาขา มาโชว์ในงาน KMITL Engineering Project Day 2019

“รศ.ดร.คมสัน มาลีสี” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดเผยว่า เป้าหมายของ สจล.ไม่ต้องการให้ “นวัตกรรมอยู่บนหิ้ง” แต่ต้องการให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจและใช้งานได้จริง

โดย สจล.เองก็มีแผนที่จะตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนนักศึกษาและอาจารย์เป็นสตาร์ตอัพเพื่อสร้างนักพัฒนานวัตกรรม

“ในอดีตการทำธุรกิจอาจเริ่มไม่ได้ ถ้าไม่มีเงินทุน แต่ปัจจุบันขอแค่มีไอเดีย ก็มี VC (venture capital) พร้อมจะสนับสนุน”

นอกจากผลงานของนักศึกษาแล้ว ยังมีโครงการที่นักศึกษาร่วมกันพัฒนากับภาคอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า “สหกิจศึกษา” กว่า 200 โครงการ เพราะตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีนวัตกรรม

“เราเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาดูงาน ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะปิด เพราะไม่มั่นใจ ยังกังวลเรื่องความลับ แต่ตอนนี้ต้องเปิด เพราะโลกในปัจจุบันแคบลงด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นจะเป็นวิศวะแค่ในประเทศไม่ได้ และไทยก็จะเป็นแค่ประเทศผู้รับจ้างผลิตไม่ได้ ต้องผันตัวเป็นผู้สร้างนวัตกรรม”

สำหรับผลงานนวัตกรรมในปีนี้มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ “เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย” ผลงานจากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้หลักการวัด “bioimpedance” หรือค่าความต้านทานทางชีวะ ที่ใช้การนำไฟฟ้าของน้ำตาลในเลือดมาเป็นตัวแปรในการหาระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้สามารถวัดค่าน้ำตาลโดยไม่ต้องเจาะเลือด ทั้งยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนแค่ 5% ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้ประหยัดต้นทุน จากเดิมที่มีต้นทุนในการใช้แผ่นตรวจน้ำตาลครั้งละ 25-40 บาท รวมทั้งหลักการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวัดค่าอื่น ๆ ได้ อาทิ ไขมัน เป็นต้น

“ระบบการจัดการวันเก็บเกี่ยวทุเรียนบนสมาร์ทโฟน” ผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ที่ใช้เทคโนโลยี RFID มาช่วยจัดเก็บข้อมูลของทุเรียน เพื่อลดความคลาดเคลื่อน เพราะเดิมชาวสวนจะใช้การจดข้อมูลด้วยมือ เช่น วันออกดอก ซึ่งถ้าเก็บบน RFID เพียงมีตัวสแกนแท็กก็จะสามารถอ่านข้อมูลได้ และสามารถลบเพื่อใช้ได้อีก ทำให้ประหยัดต้นทุนกว่าการใช้เทคโนโลยี IOT โดยแท็ก RFID มีต้นทุนชิ้นละ 20-25 บาท ขณะที่ตัวอ่านมีต้นทุนประมาณ 500 บาท สามารถประยุกต์ใช้ได้กับพืชทุกชนิด

“ตะเกียบรับประทานได้” ผลงานจากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร ผลิตตะเกียบจากแป้งข้าวโพดและแป้งถั่วเหลือง โดยตะเกียบคงตัวได้ในน้ำร้อนประมาณ 15 นาที ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ เช่น อินเดีย ทนความร้อนในน้ำได้แค่ 1 นาที และไม่มีปัญหารสชาติอาหารผิดเพี้ยนเพราะตะเกียบไม่ละลาย แต่เป็นการอ่อนตัว ส่วนต้นทุนอยู่ที่คู่ละ 1 บาท สูงกว่าตะเกียบไม้ไผ่เพียง 30 สตางค์ ดังนั้นหากผลิตแบบแมสโปรดักต์ได้อาจมีต้นทุนที่เท่ากัน ปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการปรับปรุงรสชาติ

“ต้นแบบขาเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ” โดยนักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่ออกแบบขาเทียมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อแปลงสัญญาณและจำลองรูปแบบลักษณะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ให้ขาเทียมเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ช่วยลดความเมื่อยล้าของผู้ป่วย จากเดิมที่ต้องใช้แรงตัวเองในการใช้งาน โดยขาเทียมดังกล่าวในต่างประเทศมีการใช้งานแล้ว แต่ต้นทุนสูงมาก ราคาชิ้นละประมาณ 3 ล้านบาท

“เป้าหมายของงานวิจัยนี้ คือ การลดต้นทุน โดยถ้าพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์คาดว่าจะใช้ต้นทุนไม่เกิน 5 หมื่นบาทนอกจากนี้ ยังมีโครงงานการลดการไหลของน้ำในดินเพื่อการปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแบคทีเรียเดกซ์ทราน ซึ่งเป็นแบคทีเรียธรรมชาติมาใช้เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำในดิน ทดแทนวิธีเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีสำหรับห้องผ่าตัด โดยนักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์