“คน” หัวใจสำคัญสมาร์ทซิตี้ เพิ่มความรู้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์

เป็นอีกบริษัทที่ตั้งเป้าจะพัฒนา “สมาร์ทซิตี้” เมืองอัจฉริยะ สำหรับ “อมตะ คอร์ปอเรชั่น” โดยได้เริ่มแผนงาน 5 ปี (2561-2564) สู่การเป็นผู้นำสมาร์ซิตี้ระดับโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว

ล่าสุด “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น ได้อัพเดตถึงความคืบหน้าและให้มุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และ “คน”

Q : ตั้งเป้าพัฒนาสมาร์ทซิตี้

รัฐบาลโฟกัสในเรื่องสมาร์ทซิตี้ อมตะก็จะเป็นอีกแห่งที่จะร่วมผลักดันสมาร์ทซิตี้ของประเทศ และหวังว่าจะเป็นอีกสมาร์ทซิตี้ระดับโลกได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้วก็ได้ร่วมมือกับเมืองโยโกฮามา ของญี่ปุ่น ที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ที่ชลบุรี ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะเป็นที่แรกที่ญี่ปุ่นยอมให้ใช้ว่าเป็น “Yokohama 2nd” ซึ่งตอนนี้ออกแบบเสร็จหมดแล้ว ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และยังร่วมมือกับเมืองหนานจิง ประเทศจีน ตั้งโครงการอมตะ-หนานจิง สมาร์ทซิตี้ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ก็จะเริ่มสร้างภายในปีนี้ แต่กว่าจะเสร็จก็จะใช้เวลาอีกหลายปี เพราะเมืองแบบนี้ยังไม่เคยมีในประเทศมาก่อน แล้วก็ยังมีอีกหลายเมืองที่เราจะไปจับมือด้วย พยายามจะดึงคนเก่ง ๆ เข้ามา

Q : งบฯลงทุนด้านสมาร์ทซิตี้

จะลงทุนสมาร์ทซิตี้ก็เป็นแสนล้านบาท แต่ไม่ใช่เงินของอมตะอย่างเดียว เงินขนาดนั้นในพื้นที่ไม่กี่พันไร่ ก็ต้องอาศัยนักลงทุน ซึ่งต้องมุ่งทำให้เป็นเมืองนวัตกรรม คู่ไปกับการคิดถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปล่อยให้ทำกันไปเรื่อยเปื่อย แต่ละปีอมตะก็ใช้เงินเยอะเพื่อพัฒนาเรื่องนี้

Q : จับมือกับ “depa” พัฒนาคน

ในอมตะฯ มีประชากรอยู่ภายใต้ปีกราว 3 แสนคน และที่อยู่รอบ ๆ อีก 7 แสนคน เรามองว่าวันนี้จะพัฒนาบุคลากรไปควบคู่กับการพัฒนาเมืองของเราได้อย่างไร จึงร่วมกับ depa (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ที่จะทำ study case เพราะวันนี้สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทย คือ การทำให้คนไทยหรือคนที่ทำงานของเรา มีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะค่าแรงของไทยสูงกว่าประเทศข้างๆ และการที่จะทำให้คนของเรามีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องมุ่งไปที่สร้างความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาคนที่เรามีอยู่แล้วให้พร้อมทำงานใหม่ๆ ได้มากขึ้นที่จริง อมตะฯมีสถาบันเทคนิคไทยเยอรมันอยู่ที่นี่ และเริ่มฝึกอบรมคนไปก่อนนี้แล้ว โครงการนี้ก็จะเสริมเข้าไป

Q : มีปัญหาขาดแคลนคน

ในอมตะฯมีโรงงานที่เป็นระดับอินเตอร์เนชั่นแนลกว่า 80% ส่วนใหญ่จะใช้นวัตกรรมไฮเทคเยอะ ฉะนั้นเรื่องคนเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่แล้ว การที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศข้างบ้านหรือประเทศอื่นได้ ต้องมีเทคโนโลยี มีคนดิจิทัลเข้าไปสู้ จะไปใช้รูปแบบเก่าคือการเป็นแรงงานราคาถูกมันไม่ได้แล้ว ยิ่งตอนนี้เราก็ได้รับผลจากกลุ่มนักลงทุนที่ย้ายออกจากจีนเยอะเหมือนกัน

ผมเชื่อว่าบุคลากรไทยมีความสามารถ ถ้าได้รับการฝึกอบรม จะทำงานได้กว้างขึ้น ดีขึ้น มีมูลค่าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล

Q : คนที่ต้องการ

ด้านวิศวกร วิทยาศาสตร์ วันนี้ต้องเรียนด้านนี้ให้เยอะขึ้น อย่างบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ มีคนที่เรียนด้านนี้กว่า 500 คน แล้วช่วยกันคิดสินค้าออกมาทำรายได้ปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท

คนของเราก็น่าจะเพิ่มความรู้ให้มาทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ให้อยู่กับสายการผลิตเท่านั้น

เมื่อก่อนเอาวัตถุดิบ เอาน้ำ เอาความร้อนไปใส่ สร้างให้เกิดสินค้าขึ้นมาขาย แต่ก็สร้างมลพิษด้วย วันนี้เราสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ในสายการผลิต ให้กลายเป็นการค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ อย่างอิสราเอล ไม่มีสายการผลิตแล้ว สินค้าที่ประทับตราว่า “made in Israel”

มีน้อยมากแต่ยังร่ำรวยได้เพราะขาย know-how ขายสิ่งที่ได้จากการค้นคว้าและวิจัย ฉะนั้นเรื่องอะไรที่เราจะต้องผลิตสินค้าที่มีน้ำเสีย มีควันเสีย แถมนวัตกรรมยังสร้างมูลค่าได้สูงกว่า ผมก็หวังว่า ไทยจะก้าวไปสู่การพัฒนา know-how

Q : ความสมาร์ทที่จะเห็นเป็นสิ่งแรก ๆ

การนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการผลิต มีการค้นคว้าวิจัยผลงานใหม่ ๆ นอกจากนั้นจะต้องมุ่งไปที่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะไปสู่นวัตกรรมใหม่ได้อย่างเกาหลีใต้ ใช้งบประมาณด้านการวิจัยนวัตกรรมสูงมาก มากกว่า 4.6% ของ GDP หลายประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว เรายังทำเองไม่เป็นก็ต้องไปจับมือกับเขา ดึงมาให้ฝึกอบรมบุคลากรร่วมกันอย่างที่เห็นแล้วในวันนี้ คือ อมตะฯให้ความสำคัญกับผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ในนิคมต้องไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก เรานำน้ำเสียมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ทั้งหมด ไม่ใช่ให้ต่างคนต่างทำ แต่อมตะฯเข้าไปทำเองเลย ขยะก็นำไปมาใช้เป็นไฟฟ้า และยังตั้งใจจะให้มีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 40% ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะเราตั้งเป้าจะเป็นเปอร์เฟ็กต์ซิตี้ แต่วันนี้เราขยับเป้าหมายไปสู่สมาร์ทซิตี้แล้ว ก้าวไปอีกขั้นที่ดีกว่า ด้วยนวัตกรรมทั้งการออกแบบ การใช้พลังงาน