“Ride-hailing” แสนล้าน Sandbox ปลดล็อกปัญหา

หนึ่งในประเด็นกำลังถูกพูดถึงมาก คือ จะทำให้อย่างไรให้การเรียกรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ หรือ “ride-hailing” เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็เป็นธรรมกับผู้ขับแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบเดิมที่ต้องฝ่าด่านขั้นตอนทางกฎหมายมากมายกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง

ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) เปิดเผยผลวิจัย “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชั่น (ride-hailing service) : บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน”

อีก 6 ปีตลาดทะลุแสนล้าน

“ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” ผู้อำนวยการ CONC Thammasat กล่าวว่า ในปี 2561 อุตสาหกรรม ride-hailing ในไทยมีมูลค่าตลาดราว 21,000 ล้านบาท คิดเป็น 6% ของ GDP ภาคการขนส่งทางบกของไทย มีผู้โดยสารใช้งานประมาณ 2.4 ล้านคน/เดือน หรือ 140 ล้านเที่ยว/ปี มีผู้ขับขี่ 105,000 คน/เดือน และคาดว่าภายในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 20-25% ของ GDP ภาคการขนส่งทางบก มีการใช้งานเพิ่มเป็น 11 ล้านคน/เดือน 800 ล้านเที่ยว/ปี และคาดว่าผู้ขับขี่จะเพิ่มเป็น 590,000 คน/เดือน

“ปัจจัยที่ส่งเสริมคือ ประชากรกว่า 50% อาศัยในเขตเมือง และจะเพิ่มเป็น 73% ในอีก 30 ปี ขณะที่การจราจรไทยแออัดเป็นอันดับ 8 ของโลก ระบบขนส่งสาธารณะก็ไม่สะดวก”

77% ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหา

จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคพบว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นถูกกฎหมาย และ 77.24% เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งแก้ โดยผู้โดยสาร 92% เห็นว่าเป็นบริการที่ปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่น 77% ระบุว่าช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ ขณะที่ 82% ของคนกรุงเทพฯที่วางแผนจะซื้อรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้าระบุว่า จะไม่ซื้อรถยนต์หากบริการ ride-hailing สามารถตอบโจทย์ได้

“ตัวเลขทั่วโลกระบุว่า ride-hailing ช่วยลดการเมาแล้วขับ 51% ขณะที่ไทยเสียชีวิตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับสองของโลก”

แท็กซี่เพิ่มเที่ยววิ่งได้ 7 เท่า/วัน

ด้านผู้ขับขี่ที่ให้บริการ ride-hailing มองว่า เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ โดย 99% ของผู้ขับรถที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว

“ไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 130,000 บาท/ครัวเรือน ดังนั้น หากใช้เวลาว่าง ทำเป็นอาชีพเสริมได้ อย่างแท็กซี่ที่สำรวจระบุว่า สามารถช่วยเพิ่มเที่ยวโดยสารได้ถึง 7 เท่า/วัน”

อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นส่วนที่ได้รับผลดีที่ชัดเจน จากการเพิ่มโอกาสเข้าถึงพื้นที่ที่ขนส่งสาธารณะยังไปไม่ถึง รวมทั้งช่วยเพิ่มคาพาซิตี้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ในช่วงที่มีงานเทศกาล ทั้ง ride-hailing ยังช่วยสร้างความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะท่องเที่ยว เนื่องจากรู้ราคาชัดเจน มีประวัติผู้ขับ สามารถบันทึกและส่งข้อมูลเดินทางได้แบบเรียลไทม์ สามารถชำระเงินได้หลากหลาย

หนุนท่องเที่ยวดัน 20% GDP

“ประเทศเพื่อนบ้านพยายามจะพัฒนาด้านท่องเที่ยวแข่งกับไทย โดยเฉพาะเวียดนาม เมียนมา แต่การขนส่งยังเป็นอุปสรรค ดังนั้น น่าจับตาว่าเขาจะพัฒนาอีก เราเองก็ต้องเร่งเพราะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP”

ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังมีแค่ 3 ประเทศที่บริการ ride-hailing ยังไม่ถูกกฎหมาย ได้แก่ เมียนมา, ลาว และไทย ซึ่งมองว่ารัฐบาลไทยมีจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย แต่ต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากต้องคิดให้รอบครอบ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งระบบ ride-hailing และแท็กซี่ เนื่องจากแท็กซี่อาจจะมีต้นทุนสูงกว่า เช่น ต้องตรวจสภาพรถทุกปี มีการติดมิเตอร์ แต่รถทั่วไปตรวจสุขภาพรถ 7 ปี ตรวจ 1 ครั้ง ดังนั้น ภาครัฐมาดูแลให้ทั้งระบบเก่าและใหม่ให้มีต้นทุนเท่ากันเพื่อให้ยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

เปิด Sandbox ทดลองแก้ปัญหา

“ไม่อยากให้ภาครัฐรอจนแน่ใจถึงออกกฎหมายเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก อยากให้เปิดพื้นที่ sandbox ทดลองก่อนเหมือนที่สิงคโปร์ทำ แล้วค่อย ๆ ปรับ”

แต่จำเป็นต้องมีบรรทัดฐานที่ควรเหมือนกัน ในแง่ของการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า, การคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ dynamic pricing ที่คำนวณจากปริมาณความต้องการ เพื่อลดการฉวยโอกาสการเหมาจ่ายหรือปฏิเสธผู้รับบริการในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นถ้าได้รถ ในส่วนของมาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ride-hailing ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย, ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย, มีการเสียภาษีให้กับประเทศ, มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

“ในระยะยาวมองว่าตลาดจะคอนเวอร์เจนซ์ แท็กซี่จะเข้ามาในระบบเอง ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ เพราะสะดวกและเพิ่มรายได้ ดังนั้น ต้องปล่อยให้ตลาดเป็นตัวกำหนดทางที่ควรเป็น ซึ่งก็จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ไม่เชื่อว่าจะมีผู้เล่นเพียงรายเดียวในตลาด”