“สธ.-ทีโอที-NDID” ร่วมพัฒนาต้นแบบ Digital ID  ยกระดับบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ

MOU  3 หน่วยงาน “สธ.-ทีโอที-NDID” ร่วมพัฒนาต้นแบบ Digital ID  และ Health Information Exchange (HIE) Platform  รองรับการจัดระบบการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ ยกระดับข้อมูลบริการสุขภาพปฐมภูมิ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การลงนาม ในบันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงฯ  บมจ. ทีโอที  และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID)  ในการศึกษาและจัดทำต้นแบบ (Prototype) ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID) และ Health Information Exchange (HIE) Platform ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เรื่องข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการ ให้มีการบริหารข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการที่เหมาะสม นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับการบริการระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่งต่อได้รวดเร็ว ผู้ให้บริการและผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัย

โดยระยะแรกจะนำร่อง 4 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สระบุรี และตรัง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยืนยันตัวตนของประชาชนผู้รับบริการ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดส่ง การคุ้มครอง และการจัดการข้อมูลสุขภาพของประชาชนผู้รับบริการ ก่อนขยายการดำเนินงานในระดับจังหวัด เขต ภาค และทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ขณะนี้มีจำนวน 1,180 แห่ง ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน และจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคน ในปี 2563 (ร้อยละ 40 ของประชากร) และมีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 แห่ง

ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะมุ่งผู้พัฒนาระบบ Digital ID และ Health Information Exchange Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain บนมาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA โดยการสนับสนุนจาก NDID

“การพัฒนาต้นแบบระบบ Digital ID และ Health Information Exchange Platform จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีชื่อคู่กับประชาชน แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษาของประชาชนที่มีชื่อคู่กัน รวมทั้งจาก รพ.อื่นที่ประชาชนไปรับการรักษาด้วย โดยต้องยืนยันตัวตนของแพทย์และประชาชนผ่าน Digital ID Platform ด้วยความยินยอมการให้ใช้ข้อมูลของประชาชน นอกจากนี้ ข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษา จะถูกส่งไปยังแพทย์ด้วยช่องทางที่ปลอดภัยเพื่อจัดทำให้อยู่ในรูปแบบ Global Medical Record ซึ่งจะทำให้แพทย์มีข้อมูลสำคัญเพื่อสื่อสารและวางแผนสุขภาพกับประชาชนที่มีคู่ชื่อต่อไป”

หม่อมหลวงจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการบริหารบริษัท NDID  กล่าวว่า  การจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำในการยืนยันตัวตน รวมถึงได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เพื่อให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจในมาตรฐานของระบบ ว่าข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษา จะได้รับการดูแลและจัดการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เชื่อถือได้ โดย NDID เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จาก Platform และความเชี่ยวชาญของ NDID จะสามารถต่อยอด และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของโครงการนี้ต่อไป