คน “เซต” มาตรฐาน วิธีคิดแบบ ดร.ทวิชา-แสนสิริ

“แสนสิริ” เป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์กลุ่มแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ทวิชา ตระกูลยิ่งยง” ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี บมจ.แสนสิริ ผู้อยู่เบื้องหลังการนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าทางธุรกิจ

โดย “ดร.ทวิชา” ได้ย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่แสนสิริลุกขึ้นมาประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจในปี 2560 ที่เน้นการ “คิด” และทำให้เร็ว โดยต้องทำให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้เป็นเป้าหมายสำคัญ พอเข้าสู่ปี 2561 ได้เริ่มเห็นโปรดักต์ออกมาใช้งานจริงภายในองค์กร ตั้งแต่การออกแบบ การช่วยการขาย การก่อสร้าง ทุกอย่างแบบครบวงจร พร้อมกับเริ่มเน้นการนำดาต้ามาวิเคราะห์

ซึ่ง “ดาต้า” คือเป้าหมายสำคัญของปี 2561-2562 แต่ในปี 2563 “AI” คือเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา เพื่อนำดาต้ามาวิเคราะห์ให้กลายเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การลงทุนซื้อที่ดิน ไปจนถึงการกำหนดราคาขายแต่ละยูนิตของโครงการที่พัฒนาขึ้น

อนาคตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ช่วยบริหารต้นทุน ลดการสูญเสียในกระบวนการธุรกิจ ไปจนถึงการบริหารจัดการการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อก่อนใช้ประสบการณ์ ความคุ้นเคยเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีหลายปัจจัยเข้ามาเสริมและกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อนาคตจะไม่ใช่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในแบบเดิม ๆ อีกต่อไป มีหลายสิ่งที่ไม่คิดว่า ข้อมูลนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจ แต่ AI ช่วยวิเคราะห์ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ดิสรัปต์เรื่องการอยู่อาศัยและการทำงาน ทลายข้อจำกัดของคนได้

“เทคโนโลยีได้ดิสรัปต์การควบคุมคุณภาพในการสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนเพื่อถ่ายภาพการก่อสร้างเพื่อให้ AI วิเคราะห์ว่า งานเป็นไปตามแผนและแบบที่วางไว้หรือไม่ จากเดิมที่ใช้แรงงานคนล้วน ๆ ซึ่งคิดเป็น 30-40% ของต้นทุน แต่ทุกวันนี้แสนสิริมีตำแหน่งงานใหม่คือ ให้เป็นเทรนเนอร์ของ AI ใช้เวลาในการฝึก ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างในการทรานส์ฟอร์มองค์กรไม่ให้ทำงานในแบบเดิม ๆ อีก”

“AI-โรบอต” โยงคนสู่งานเชิงรุก

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์คือ แรงงานที่มีคุณภาพหายากมากขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงตรงนี้ โดยใช้ AI และโรบอตเข้ามาทำงานที่เป็นงานซ้ำ ๆ แล้วโยงคนไปทำงานเชิงรุก เชิงกลยุทธ์ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการรีสกิล-อัพสกิล คนในองค์กรให้คิดนอกกรอบไม่ใช่รอรับแค่คำสั่ง

แต่สิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มได้คือ การที่ผู้บริหารจะต้องสนับสนุน เปิดโอกาส และจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้และกล้าที่จะเข้าร่วมทรานส์ฟอร์มองค์กร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงิน+อิสระในการทำงาน” คือแรงจูงใจสำคัญ แต่ก็จะต้องหาทางทำให้เกิดความยั่งยืน อาทิ โครงการ THE FOUNDER ของแสนสิริ ที่ผลักดันให้พนักงานเป็นสตาร์ตอัพ

“ที่ยากสุดคือจะทำให้สปีดในการเปลี่ยนแปลงเร็วเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ที่สำคัญคือ ธุรกิจที่เคยมีขอบเขตชัดเจนได้เบลอหายไปหมดแล้ว ทุกคนทำได้เหมือนกันหมด ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นคู่แข่งที่ยากจะคาดเดาได้หมด”

เป้าหมายสู่ “คนเซตมาตรฐาน”

ขณะที่ “พาร์ตเนอร์ชิป” คืออีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะกับ AI ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของพาร์ตเนอร์มาร่วมกัน ซึ่งในส่วนของแสนสิริจะลงทุนในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง

“และเมื่อทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำได้เห็น ๆ กัน เป้าหมายของแสนสิริจึงต้องการเป็นคนที่เซตมาตรฐาน คือการเป็นคนแรก ๆ ที่นำนวัตกรรมเข้ามาตอบสนองผู้บริโภคและเสริมศักยภาพธุรกิจ ไม่ได้กังวลเรื่องการถูกลอกเลียนแบบ เพราะปัจจุบันไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ แบบเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เสถียร และลึกลงไปตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งจะเกิดได้จากการเข้าใจลูกค้าจริง ๆ นี่คือหัวใจสำคัญ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจก็จะหานวัตกรรมมาตอบโจทย์ไม่ได้”

การทรานส์ฟอร์มไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนเทคโนโลยีที่จะต้องนำมาใช้งานแน่ ๆ นั้น นอกจาก AI แล้วคือ IOT สมาร์ทเซ็นเซอร์ทั้งหลาย ที่จะทำให้เกิดการเก็บข้อมูล รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบขององค์กรที่จะปกป้องข้อมูลเหล่านี้ให้ปลอดภัยและที่ผ่านมาแสนสิริลงทุนในส่วนนี้ไปไม่น้อย

แต่สำคัญที่สุดคือ ต้องยอมรับว่า “การทรานส์ฟอร์มจะไม่มีจุดสิ้นสุด” เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทุกวัน หน้าที่ขององค์กรคือการต้องปรับให้ได้ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้เราต้องอยู่แบบ “2 โลก” คือ physical และ online ที่จะต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ทั้ง2 ทาง และการจะตอบโจทย์ได้คือการ “ฟังเสียง” ของลูกค้าให้มากที่สุด