เทคสตาร์ตอัพกับ “โควิด-19”

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images
คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เมื่อประเทศเผชิญวิกฤตร้ายแรง สตาร์ตอัพไฮเทคจีนจึงลุกขึ้นมาช่วยกันคนละไม้ละมือบรรเทาสถานการณ์หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มหลายพันล้านเหรียญส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไฮเทคเติบโต ปีที่แล้วงบฯที่รัฐบาลจัดสรรให้ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิดเป็น 3.9% ของงบประมาณประเทศทั้งหมดหรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 14%

หมุดหมายสำคัญคือ ทำให้แบรนด์ “made in China” ผงาดเป็นที่จดจำของโลกในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีและสินค้าไฮเทคที่สำคัญของโลกภายในปี 2025

ในยามที่ประเทศเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 จึงถึงเวลาที่บริษัทไฮเทคน้อยใหญ่จะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยกอบกู้สถานการณ์เต็มกำลัง นำขบวนโดย Tencent ที่ใจป้ำยอมเปิดให้นักวิจัยจากหลายสถาบันเข้าใช้ระบบ “ซูเปอร์คอมพิวติ้ง” ความเร็วสูงของบริษัทเพื่อเร่งหาทางผลิตวัคซีนออกมาโดยเร็ว

ส่วน Didi ผู้ให้บริการ ride-hailing ที่ใหญ่ที่สุดก็ไม่น้อยหน้า อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ดาต้า และบุคลากรอื่นจากองค์กรแพทย์เข้าใช้เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทฟรีเช่นกัน

ฟากฝั่งรัฐเองก็มีการพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่าตัวเองเคยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ผ่านเว็บ Close Contact Detector หลังกรอกเลขบัตรประชาชน ระบบจะเช็กประวัติการเดินทางที่ดึงมาจากหลายองค์กร ทั้งผู้ให้บริการมือถือและเจ้าของโซเชียล

แพลตฟอร์ม ตลอดจนผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อเช็กว่าคนคนนั้นเคยมีประวัติการเดินทางที่ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือไม่

และเมื่อศูนย์กลางของการพัฒนาหุ่นยนต์ของโลก สตาร์ตอัพหลายรายงัดหุ่นยนต์คู่ใจมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Meituan Dianping ผู้ให้บริการ food delivery ที่ถือโอกาสโชว์ “contactless solution” ที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยลำเลียงอาหารจากครัวสู่มือพนักงานส่งของและลูกค้าที่มารอรับอาหารกลับบ้านเพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนให้มากที่สุด

JD.com ใช้หุ่นยนต์ช่วยส่งอุปกรณ์ให้โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลางในการรักษาผู้ติดเชื้อในอู่ฮั่น ส่วน Shanghai TMIRob ส่งหุ่นยนต์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามห้องรักษาคนไข้ทั้งห้องคัดแยก ห้องปลอดเชื้อ ห้องกักตัว รวมถึงห้องผ่าตัด

นวัตกรรมที่ได้ซีนจากสื่ออีกตัว คือ “โดรน” ที่คอยสอดส่องดูการเคลื่อนย้ายหรือการเดินทางของประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่เชื้อ วันนี้ตามด่านทางด่วนจะมีโดรนบินมาจ่อที่กระจกหน้ารถพร้อมห้อยป้าย QR code ให้คนขับสแกนผ่านแอป WeChat เพื่อลดการสัมผัสระหว่างพนักงานประจำด่านกับผู้ขับขี่ อีกทั้ง

ยังเป็นการระบุตัวตนเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกประวัติการเดินทางเข้าระบบด้วย (WeChat เป็นแอปโซเชียลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และเช่นเดียวกับสื่อออนไลน์ทุกประเภทในจีนที่ทางการกให้ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนด้วยชื่อ-นามสกุลจริง)

“ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” เฉกเช่นในปี 2002 ที่โรค SARS ระบาดทำให้บริการอีคอมเมิร์ซ Taobao ของ Alibaba แจ้งเกิดมาแล้ว “ไวรัสโควิด-19” ก็ทำให้บางบริการเติบโตอู้ฟู่เช่นกัน

จากรายงานของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล QuestMobile พบว่าเวลาที่คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 6.1 ชม.ต่อวัน ในเดือน ม.ค. เป็น 7.3 ชม.ต่อวันหลังมีรายงานการระบาด

หนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมอย่างฉับพลันในยามนี้ หนีไม่พ้นบรรดาแอป “Work from Home เพราะถึงตัวจะติดแหง็กอยู่บ้าน งานการก็ต้องทำ เงินทองก็ต้องหา ส่งผลให้แอป DingTalk ของ Alibaba มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 22 ม.ค.ถึง 20 ก.พ.ถึง 1,446% ในขณะที่แอป WeChat Work ของ Tencent และแอป Lark ของ ByteDance มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 6,085% และ 572% ตามลำดับ

บริการบันเทิงออนไลน์ก็เฟื่องฟูถึงขีดสุดเช่นกัน โดยพบว่ามีผู้ชมวิดีโอออนไลน์เพิ่มขึ้นจากวันละ 492 ล้านคน เป็น 569 ล้านคนหลังไวรัสระบาด ทำให้ผู้ให้บริการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจัดโชว์พิเศษจากศิลปินยอดนิยมให้ “ผู้ชมทางบ้าน” ได้เต็มอิ่มกับอรรถรสความบันเทิงที่นอกเหนือไปจากเปิดตัวหนังใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แก้ขัดช่วงที่โรงหนังปิด

แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่ใช่ตัวเอกในการรับมือกับวิกฤต แต่ความสามารถในการระดมสรรพกำลังจากบริษัทไฮเทคทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ เป็นการโชว์แสนยานุภาพของจีนในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง และที่น่าจับตา คือหลังวิกฤตผ่านพ้นไปจะมีการนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่หรือต่อยอดเทคโนโลยีเดิมอย่างไรบ้างในอนาคต