VC เจ๊งหุ้นซ้ำเติมสตาร์ตอัพ “ดีป้า”อัด170ล.หวังฟื้นดิจิทัลอีโคโนมี

สตาร์ตอัพหืดจับพิษโควิดฉุดรายได้เป็นศูนย์-เงินลงทุนหด สมาคมไทยเทคฯชี้ส่วนใหญ่กัดฟันสู้ได้อีก 3 เดือน จับตาแรงงานทักษะสูงตกงานระนาว ฟาก “ดีป้า” เร่งปรับงบประมาณ 170 ล้านบาท ช่วยหนุน หวังช่วยสตาร์ตอัพปั้นเทคโนโลยีสร้างกลไกขับเคลื่อนดิจิทัล

นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมไทยเทคสตาร์ตอัพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของสตาร์ตอัพในขณะนี้ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยหลายรายไม่มีรายได้เข้ามาเลย แม้ว่าจะมีลูกค้าอยู่ แต่ไม่สามารถเก็บเงินได้ รวมถึงไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้เช่นกัน ขณะที่บรรดากองทุน นักลงทุน หรือ VC ที่ปกติจะเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพ ก็ไม่มีเงินเข้ามาอุดหนุน เพราะขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนมากขึ้น ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนในจังหวะนี้

“โดยปกติแล้วสตาร์ตอัพจะมีกระแสเงินสดเดือนต่อเดือน ทุ่มกระแสเงินสดที่มีเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเท่ากับต้องมีรายจ่ายเยอะมากตามไปด้วยเมื่ออยู่ดี ๆ รายได้วูบหายไปเป็นศูนย์ ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงตามไปด้วย ขณะที่สตาร์ตอัพบางรายต้องปิดดีลกับ VC ในเดือนนี้ก็ไม่สามารถปิดดีล ทำสัญญากันได้ เพราะการเดินทางเข้าออกประเทศมีอุปสรรค ทำให้สตาร์ตอัพดี ๆ ไม่มีเงินลงทุนเข้ามาพยุง ตอนนี้หลายแห่งเริ่มลดเงินเดือนพนักงานครึ่งหนึ่ง มีการเลย์ออฟพนักงาน ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป คาดว่าอีก 3 เดือน น่าจะเห็นการปิดตัวของสตาร์ตอัพเยอะอยู่”

TravelTech ตายสนิท

สำหรับสตาร์ตอัพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่ม TravelTech เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว และกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ สัมมนาต่าง ๆ ที่ต้องใช้สถานที่กายภาพ อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีซัพพอร์ตองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากแต่ละองค์กรต้องรัดเข็มขัดรักษากระแสเงินสดของตัวเองให้มากที่สุด

“ไม่ว่าบริษัทหรือสตาร์ตอัพ ทุกคนเจอ cash flow shock กันหมด เพราะอยู่ดี ๆ ก็วูบหายไป เป็นกันทั้งประเทศ ในช่วง 3 เดือนนี้ก็จะได้เห็นแรงงานที่มีทักษะสูงอย่างโปรแกรมเมอร์ จะถูกเลย์ออฟราว ๆ พันราย”

ส่วนกลุ่มที่จะเติบโตได้ดี คือ สตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงที่เป็นช่องทางให้คอนซูเมอร์จับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางดิจิทัล และกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งสตาร์ตอัพหลายรายปรับมาสู่ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

Advertisment

ปีแห่งการปรับตัว

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสตาร์ตอัพในประเทศไทย ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการปรับตัว เพราะสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของไวรัสโควิดที่ทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนไป จึงอยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็วกว่ากัน และตลาดจะมีเงินพร้อมจะจับจ่ายได้เมื่อใด

“ทุกวิกฤตก็มีโอกาส ภาพรวมสตาร์ตอัพในปีนี้ บางส่วนอาจจะหายไป อย่าง TravelTech ที่ตายสนิท แต่ก็จะมีช่องทางให้ตลาดใหม่ ๆ ตอนนี้ทุกรายพยายามรักษากระแสเงินสดให้มากที่สุด”

Advertisment

ดีป้าพร้อมหนุน 170 ล้านบาท

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อํานวยการใหญ่ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในแง่ของงบประมาณกำลังซื้อต่าง ๆ ที่ลดน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องรัดเข็มขัด และลังเลที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ

“แต่ก็เป็นโอกาสจากการที่คนได้ตระหนักถึงประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อลดต้นทุน ดังนั้นหากมีกลไกที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงหรือแบ่งเบาความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้”

ดังนั้น ดีป้าจึงได้ปรับแผนใช้งบประมาณประจําปี 2563 ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยุติลง กับส่วนที่สองอีก 80 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย SMEs โรงงานต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกร ที่ต้องการนำเทคโนโลยีจากบรรดาสตาร์ตอัพไปใช้เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

พยุง Real Sector ประเทศ

“ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้สตาร์ตอัพไม่มีรายได้ ไม่มีเงินสนับสนุน ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็จะล้มหายตายจากไป ทำให้ประเทศขาดกลไกของดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในยุคใหม่ การที่ดีป้าใส่เงินทุนลงไป 90 ล้านบาท ให้กับสตาร์ตอัพ ก็จะช่วยให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีขึ้น สามารถซัพพอร์ต real sector ให้ก้าวต่อไปได้ เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ที่หยุดชะงักเพราะโควิดเริ่มคลี่คลาย”

ขณะเดียวกัน อีก 80 ล้านบาทที่ใส่ให้กับผู้ประกอบการก็เป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ช่วยแบ่งเบาความเสี่ยง ทำให้กล้าตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเทคโนโลยีเป้าหมายที่ดีป้าต้องการสนับสนุนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ เช่น เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร การศึกษา การเงิน บริการภาครัฐ ท่องเที่ยว และสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อจะช่วยให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปให้ได้