“กสทช.” ทุ่มสู้โควิดสุดตัว เขย่ารายรับ ช่วยรัฐ-เอกชน

เป็นที่ฮือฮาอีกครั้งเมื่อ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศว่า มติที่ประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุด 27 พ.ค. 2563 ได้มีมติ “งดจ่ายโบนัส” ประจำปีนี้ให้กับพนักงานสำนักงาน กสทช. เพื่อนำงบประมาณที่ตั้งไว้ในส่วนนี้ ส่งคืนเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อให้รัฐบาลนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณสนับสนุนภารกิจต่อสู้และฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “กสทช.” ได้ “ตัดเงิน” โยกงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อช่วย รพ.ต่าง ๆ ต่อสู้กับโควิดมาแล้ว

ประเด็นที่สร้างเสียงฮือฮาไม่ใช่การที่ “กสทช.” จะเป็นหน่วยงานนำร่องไม่รับโบนัส หรือร่วมสู้โควิดเต็มตัว แต่คือ “วงเงินโบนัส” ที่ตั้งเตรียมไว้ 200 ล้านบาท สำหรับพนักงานราว 1,000 คน ทำให้หลายฝ่ายตีเฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า ได้ถึงคนละ 2 แสนบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสของพนักงาน ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 พบว่า การจะจ่ายโบนัสได้ เมื่อสำนักงาน กสทช.ได้รับการประเมินว่า มีผลการปฏิบัติงานสูงกว่าเป้าหมาย และพนักงานแต่ละคนจะได้รับโบนัสในอัตราคนละไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน

โดยก่อนหน้านี้ ค่าตอบแทนพิเศษในปี 2562 รวมทั้งหมดอยู่ที่ 193.37 ล้านบาท และปี 2561 อยู่ที่ 137.44 ล้านบาท ขณะที่เงินเดือนพนักงานในปี 2562 อยู่ที่ 1,029.38 ล้านบาท และปี 2561 อยู่ที่ 964.25 ล้านบาท เท่ากับว่าเงินโบนัสอยู่ราว 14-18% ของเงินเดือน

เปิดเงินเดือนพนักงาน

สำหรับการรับสมัครพนักงานของ กสทช.นั้น ส่วนใหญ่จะเปิดรับในด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหลัก โดยเงินเดือนสตาร์ตเริ่มต้นที่ระดับพนักงานปฏิบัติการระดับต้น 20,000 (+ค่าครองชีพ 2,500 บาท) สำหรับระดับปริญญาตรี

พนักงานปฏิบัติการระดับกลาง เงินเดือนเริ่มต้น 23,600 บาท (+ค่าครองชีพ 2,500 บาท) สำหรับระดับปริญญาโท พนักงานปฏิบัติการระดับสูง เงินเดือนเริ่มต้นที่ 38,500 บาท โดยเพดานเงินเดือนสูงสุดในระดับนี้จะอยู่ที่ 40,000-100,000 บาท

ขณะที่ระดับผู้อำนวยการสำนักจะเริ่มที่ 54,000 บาท สูงสุดที่ 180,000 บาท ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการ เริ่มต้นที่ 150,000 บาท และเลขาธิการอยู่ที่ 300,000 บาท

ด้านกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ที่รับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2554 นั้น ได้ค่าตอบแทนในรูปแบบเหมาจ่ายรายเดือน269,000 บาท ยกเว้นประธานบอร์ด ได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายเดือนละ 335,850 บาท

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทั้งหมดของ กสทช. ไม่ว่าค่าสวัสดิการ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จ ในปี 2562 จะอยู่ที่ 1,630.26 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 1,520.37 ล้านบาท ส่วนปีนี้เดิมตั้งไว้ที่ 1,635.88 ล้านบาท ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ราว 1,443 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายของสำนักงาน กสทช.ทั้งหมดที่ตั้งไว้ 6,548.32 ล้านบาท

“ค่าธรรมเนียม” รายรับหลัก

สำหรับเงินรายรับของ กสทช.ที่นำมาใช้ตั้งงบประมาณนั้น ทั้งหมดเป็นรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ เมื่อเงินก้อนนี้เหลือจึงจะนำส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็น “รายได้แผ่นดิน” แตกต่างจากหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากเงินรายได้แผ่นดิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในการดำเนินงานรายได้ค่าธรรมเนียมของ กสทช. หลัก ๆ จะมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี ซึ่งจัดเก็บตามขั้นบันไดรายได้ของผู้รับใบอนุญาตจะคิดตั้งแต่ 0.125% ถึง 1.5% ของรายได้ และยังมีค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคม 1-1.5 บาทต่อเบอร์ต่อเดือน

รวมถึงยังมีเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) โดยในฝั่งโทรคมนาคมจะคิดในอัตรา 2.5% ของรายได้สุทธิ ฝั่งกระจายเสียงอัตรา 0.125% ถึง 1.5% ตามเพดานรายได้

โดยในปี 2563 มีการประเมินรายได้จากค่าธรรมเนียมไว้ที่ราว 8,723 ล้านบาทในด้านเงินเหลือเบิกจ่ายที่ กสทช. นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น ในปี 2562 อยู่ที่ 2,529 ล้านบาท ปี 2561 นำส่ง 5,280 ล้านบาท ไม่รวมเงินนำส่งเข้ารัฐที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่และประมูลเบอร์สวย ที่ปี 2562 อยู่ที่ 32,447 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 25,461 ล้านบาท

ทุ่มสุดตัวช่วยสู้โควิด

ด้านเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” กล่าวว่า การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินโบนัสให้พนักงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ความเดือดร้อนของประชาชนยังมีอยู่ จึงต้องการเป็นหน่วยงานนำร่องให้เป็นตัวอย่าง

“สำนักงาน กสทช.เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีรายได้เป็นของตัวเอง ที่ผ่านมาได้มีการชะลอและหยุดโครงการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อนำเงินงบประมาณมาให้ รพ.รัฐต่อสู้โควิดแล้ว 1,300 ล้านบาท จนตอนนี้กระแสเงินสดของ กสทช.ค่อนข้างร่อยหรอ เพราะต้องเร่งโอนให้ รพ.ที่ขอทุนสนับสนุนเข้ามา ทำให้กระแสเงินสดลดลงเร็วมากกว่าที่เคยเป็น ปัจจุบันเหลือราว 200-300 ล้านบาท”

แต่ กสทช.ยังเดินหน้าช่วยเหลือทุกฝ่ายให้ผ่านวิกฤตโควิดนี้ไปให้ได้ โดยล่าสุดที่ประชุมบอร์ด กสทช. มติเป็นเอกฉันท์ ให้ออกประกาศ กสทช.เรื่อง การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม และการจัดสรรรายได้เข้ากองทุน เพื่อพยุงกระแสเงินสดของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยสาระสำคัญของร่างประกาศ จะกำหนดให้ผู้ประกอบการทั้งฝั่งบรอดแคสต์และโทรคมนาคม ที่รายได้เกิน 1 พันล้าน สามารถแบ่งจ่ายค่าธรรมเนียมได้เป็น 2 งวด งวดแรก 50% ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ครบกำหนด และอีก 50% ที่เหลือสามารถยืดไปจ่ายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนบริษัทที่มีรายได้น้อยกว่าพันล้านบาท สามารถเลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมทั้ง 100% ไปจ่ายในวันที่ 15 ส.ค.นี้

โดยสำรวจล่าสุด มีผู้ประกอบการทีวี 9 ราย ที่มีรายได้เกินพันล้านบาท และในฝั่งโทรคมนาคมมีบริษัทที่มีรายได้เกินพันล้านบาท 12 ราย

“จริง ๆ อยากจะยืดให้มากกว่านี้ แต่จะกระทบกระแสเงินสด กสทช. ทำให้ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ การขยายเวลาให้ตามประกาศนี้ จะทำให้ กสทช.มีรายรับเข้ามาราว 3,000 ล้านบาท ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. และอีก 3,000 ล้านบาทในช่วง 15 ส.ค.นี้ เพียงพอกับการดำเนินงาน”