อ่านสักนิด ก่อนคิดปิดกิจการ

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

ในช่วงโควิด-19 บางธุรกิจเจริญเติบโตดี แต่บางธุรกิจอย่างเทค สตาร์ตอัพหลายตัวไม่สามารถไปต่อได้ด้วยหลากหลายเหตุผล ผมเชื่อว่าจะมีธุรกิจอื่นเริ่มทยอยปิดตามไปอีกเยอะ

จริง ๆ ก่อนช่วงโควิดผมไปงาน web submit ที่โปรตุเกส มีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ สตาร์ตอัพทราบว่าบางคนมีเงินรันธุรกิจได้ไม่กี่เดือน เงินรันธุรกิจในวงการสตาร์ตอัพเรียกว่า “รันเวย์” เหมือนช่วงเวลาของเครื่องบินที่จะรันเวย์ก่อนขึ้น ยิ่งรันเวย์ยาว คือยิ่งมีเงินเยอะก็วิ่งไปได้เรื่อย ๆ แต่ผมฟังแล้วตกใจมากที่ทำไมเหลือเงินอยู่น้อยจัง เขาก็จะไปหาเงินจากนักลงทุน นั่นคือสภาพก่อนโควิด

แต่พอหลังโควิดนักลงทุนทุกคนเริ่มกังวล เก็บเงินไว้ก่อน ไม่กล้าลงทุน ทำให้บรรดาสตาร์ตอัพทยอยแลนดิ้ง ปิดกิจการ หรือ scale down ตัวเองลง

เริ่มหาทางรอด หาทางเลือกอื่นในการหารายได้ให้เข้ามาอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ไม่มองว่าโตอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มองเรื่องต้องทำกำไร ต้องหารายได้

ยุคนี้เป็นยุคที่สตาร์ตอัพไทยและทั่วโลกเปลี่ยนแนวความคิดไปแล้ว

เริ่มเห็นบางธุรกิจอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่เขายังมี asset หรือสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ผมจึงแนะนำกลยุทธ์ให้กับน้องหลายคนที่กำลังจะแลนดิ้ง กำลังจะปิดหรือกำลังจะไม่รอด

คำแนะนำนี้เหมาะกับทุกธุรกิจไม่ใช่แค่สตาร์ตอัพครับ

1.ถ้ามองว่าไม่รอดอย่าเพิ่งรีบปิดกลับมามองตัวเองก่อนว่าตอนนี้มีสินทรัพย์หรือ asset อะไรบ้าง จุดเด่นของธุรกิจเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัพคือ มีซอฟต์แวร์ ฐานลูกค้า และมี business model ที่ดี เพียงแต่เหตุการณ์บางอย่างทำให้ไปต่อไม่ได้  แนะนำว่า 1.1 ให้ไปหาคู่แข่งแล้วชวนมารวมกันให้มาซื้อธุรกิจ เพราะถ้าปิดตัวแล้วเงินจะหายหมด แต่ถ้าขายยังไงก็ยังได้เงิน แถมบางครั้งเมื่อรวมกันแล้วยังโตต่อไปได้อีก หรืออาจไปรวมกับองค์กรที่ใหญ่กว่าและขาดธุรกิจแบบเรา

2.การปรับธุรกิจ ถ้าไม่อยากปิดจริง แนะนำวิธีนี้ เพราะหากธุรกิจทำไปแล้วไม่รอดให้กลับมาดูธุรกิจของตัวเองและดูสินทรัพย์ที่มีอยู่ ลองปรับไปเป็นอย่างอื่นที่ใกล้กันและต่อยอดได้

ในวงการสตาร์ตอัพเรียกว่า pivot หมุนตัวเอง บิด business model จนเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากฐานข้อมูล จากสินทรัพย์ที่มีในแง่ของคน ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ ปรับไปเป็นอีกโมเดล เมื่อปรับใหม่แล้วนักลงทุนอาจสนใจก็ได้

3.lean ตัวเองลง ถ้าไปไม่ไหวจริง ๆ แต่ดูแล้วอนาคตยังดี น่าสนใจ ก็ทำให้ตัวเบาลง เช่น จากที่มีพนักงาน 10 คน อาจเหลือ 3 คน ทำให้รายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย จำศีลก่อนยังไม่ปิด เพราะถ้าปิดปุ๊บทุกอย่างจะหายไปหมด ทำให้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเพื่อให้อยู่ได้ยาวขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ตลาดกลับมาค่อยเอาคนเข้าไปใส่อีกที ผมเองก็เคยใช้ในหลายธุรกิจ

4.ปรับ business model เป็นอีกแบบ ถ้าโมเดลที่ทำอยู่ไม่รอดก็อาจต้องปรับ business model ผมได้คุยกับ Freshket.co ตัวกลางขายวัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ต่าง ๆ ส่งให้ร้านขายอาหาร พอโควิดมาคนไม่ออกไปซื้อของที่ตลาดก็เปลี่ยน business model จาก B2B มาเป็น B2C ปรากฏว่ายอดขายโตขึ้นมหาศาล นั่นคือการเปลี่ยนที่ยืน เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยน business model นิดเดียว แต่โครงสร้างทุกอย่างยังเหมือนเดิมอยู่

ดังนั้น ก่อนที่จะแลนดิ้งหรือก่อนจะปิดบริษัท ผมแนะนำให้คุยกับคนอื่นเยอะ ๆ เพราะถ้าอยู่แต่กับตัวเองหรือทีมตัวเอง ก็มีแต่มุมมองเดิม ๆ การไปคุยกับคนอื่นอาจมองเห็นอะไรใหม่ หรืออาจใช้วิธีที่ง่ายแต่ต้องกล้าตายมากเช่นกัน คือ โพสต์ลง Facebook

บอกว่าจะไปไม่รอด บอกด้วยว่าตอนนี้มีอะไรอยู่บ้าง เช่น มีเว็บไซต์ เทคโนโลยี ฯลฯ ใครสนใจร่วมมือก็มาเลย เมื่อลง Facebook แล้วคนก็จะเห็นว่าอันไหนดี อันไหนน่าสนใจ อาจมาลงทุนและอาจกลับมายืนอีกครั้งก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่จะอายมากกว่า

ใครที่ร่อแร่มานาน นี่คือจังหวะที่ดีที่คุณแลนดิ้งธุรกิจโดยไม่น่าอายเพราะใคร ๆ เขาก็ปิด แต่ ต้องมีศิลปะบางธุรกิจพอจะแลนดิ้งแต่ลองใช้กลยุทธ์ข้างต้น บางทีไม่ต้องแลนด์เลย มีคนที่มีความต้องการแมตช์กันมาเจอกัน มีทางรอดอื่นมากขึ้น อยากให้คิดว่ามีหลายวิธี

การปิดเป็นวิธีสุดท้าย จงสร้าง optionหรือทางเลือกไว้หลายแบบ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นนะครับ