ดีป้า เปิดมูลค่าตลาดดิจิทัลปี 63 ทะลุ 6 แสนล้าน รับดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน-5G

โตแรงฉุดไม่อยู่ ดีป้า เปิดมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 63 คาดทะลุ 6 แสนล้านบาท จากกระแสดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ขณะที่อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และบริการซอฟต์แวร์แผ่วลงเล็กน้อย แต่คาดว่าปี 2564 จะกลับมาเติบโตจากการเข้ามาของ AI และการลงทุน 5G

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความต้องการด้านบริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีมูลค่ารวมมากกว่า 675,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะลดลง 1.2% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 133,199 ล้านบาท เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจริยะ ที่คาดว่าจะยังคงหดตัวลงต่อเนื่องอีก 10.1% หรือคาดว่าจะมีมูลค่าราว 268,989 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ปี 2564-2565 ทั้งสองอุตสาหกรรมนี้จะกลับมาเติบโต เนื่องจากมีการเข้ามาของ AI อีกทั้งภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนเกี่ยวกับโครงข่าย 5G มากขึ้น

ตามด้วยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล คาดว่าจะเติบโตขึ้น 20.5% จากปีก่อนหรือมีมูลค่ากว่า 204,240 ล้านบาท และในปี 2565 จะขยายตัวสูงกว่า 258,470 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ จะเติบโต 10.1% หรือมีมูลค่า 34,229 ล้านบาท จากการขยายตัวของตลาดเกมมิ่ง และสุดท้ายอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าจะมีมูลค่าขยับเป็น 16,871 ล้านบาท และปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 18,558 ล้านบาท

“การประเมินมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นสิ่งที่ดีป้าจัดทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 และจะขยายขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งดีป้ากำลังพัฒนา ‘Digital Pulse’ ให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านดัชนีชี้วัดระหว่างประเทศ ฐานข้อมูลและแนวโน้มอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งจะทำให้ดีป้าสามารถรายงานผลการสำรวจเป็นรายไตรมาสได้ และขยายไปสู่การสำรวจภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต”

ขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปพิจารณามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2562 พบว่า มีมูลค่ารวม 647,952 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.61% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 637,676 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)

อย่างไรก็ตาม หากแยกย่อยรายอุตสหากรรม พบว่าปี 2562 อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจริยะ มีมูลค่า 299,343 ล้านบาท ลดลง 7.97% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 325,261 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมลดลงด้วย

ขณะที่มูลค่าของอุตสาหกรรมอีก 4 กลุ่ม ในปี 2562 ยังมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 134,817 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 13.37% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 118,917 ล้านบาท

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล มีมูลค่า 169,536 ล้านบาท โต 10.45% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 153,497 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีมูลค่า 31,080 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11.51% จากปี 2561 ที่มีมูลค่า 27,872 ล้านบาท และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า มีมูลค่า 13,176 ล้านบาท โตขึ้น 8.63% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 12,129 ล้านบาท

“ปัจจัยที่ฉุดให้มูลค่าอุตสาหกรรมปี 2562 เติบโตขึ้นเล็กน้อย เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้บริการคลาว์ดมากขึ้น และแม้ว่าสมาร์ทดีไวซ์จะมีอัตราการเติบโตที่ดี แต่ก็ยังติดลบอยู่ เนื่องจากมีการนำเข้าลดลง และมีการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ”