‘บิ๊กป้อม’ สั่งลุย เร่ง “ดีอีเอส” ปราบเว็บไซด์ผิดกฎหมาย

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่ง ดีอีเอส ผนึก สตช. ลุย ปิดกั้นเว็บไซด์ผิดกฎหมาย การแสดงความออกที่ไม่เหมาะสมบนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมเปิดหน้า เปิดประชุมติดตามผลการดำเนินงานรอบปี และแนวทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

วันที่ 29 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสร้างความขัดแย้งในสังคม การปลุกปั่นยั่วยุ และการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม จึงขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ เพิ่มประสิทธิภาพการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง

ด้วยการประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ มีผลงานหลายเรื่อง อาทิ การจัดตั้งสำนักงานไซเบอร์ฯ การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้ทุ่มเทต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป”

พล.อ.ประวิตร-ดีอีเอส เว็บไซต์ผิดกฎหมาย

Advertisment

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลมาต่อเนื่อง ขณะที่แนวทางจากนี้จะเร่งให้ กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าทำงานใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านสังคม รวมทั้งความมั่นคง ประกอบด้วย

1.ช่วยกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม

2.เร่งทำการแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้เป็นรูปธรรม และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง

3.เร่งป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ อย่างเคร่งครัด

Advertisment

4.ขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อป้องกันภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

ด้านถัดมา คือ ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.เร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน สร้างงานในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและคนด้อยโอกาส

2.วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัย ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ตลอดจนการให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาทางไกลกับประชาชน

3.เตรียมคนไทยและแรงงานไทยให้พร้อมสู่โลกดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล

4.พัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล ด้วยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล และสร้างความตระหนักรับรู้ให้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์