เราเที่ยวด้วยกันเฟส 2 ดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลจริง

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมเองทำบริษัทเกี่ยวกับการรับชำระเงินออนไลน์ชื่อ “เพย์ โซลูชั่น” และได้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีโรงแรมที่ใช้เพย์โซลูชั่นเป็นเครื่องมือในการรับชำระเงินหลายแห่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นโครงการที่รัฐเข้ามาซัพพอร์ตการเงินถึง 40%

ผมได้ลองสรุปตัวเลขทั้งปีออกมาในแง่มูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์เฉพาะบริษัทของผม สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวเลขในกลุ่มท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกนั้นตกลงจนน่าตกใจ ยิ่งในช่วง Q2 ตกหนักมาก การชำระเงินในกลุ่มท่องเที่ยวทางออนไลน์ลดลง 83% เมื่อเปรียบเทียบกับ Q1

แต่หลังจากช่วงเดือนกรกฎาคมเรามีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้ตัวเลขของคนที่เข้ามาจองและชำระเงินในธุรกิจท่องเที่ยวโตขึ้นมาถึง 554% เลยทีเดียว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ตัวเลขการจองโตมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขปีต่อปีของกลุ่มท่องเที่ยวโตขึ้นมาถึง 200 กว่าเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เมื่อดูตัวเลขที่มีการจองเพิ่มขึ้นมานั้น จะเป็นการจองก่อนช่วงหยุดยาวที่ภาครัฐได้จัดเอาไว้ ฉะนั้น เมื่อดูแล้วสิ่งที่ภาครัฐได้กระตุ้นนั้นถือว่าได้ผล เพราะว่าตัวเลขการท่องเที่ยวจากที่ไม่โตเลย และจากที่เคยเป็นการจองจากต่างประเทศเป็นหลัก

เห็นได้จากกลุ่มลูกค้าที่ผมมีอยู่นั้นเป็นโรงแรมที่มีคนต่างประเทศเข้ามาพัก หรือบินเข้ามาเพื่อทำศัลยกรรม คือ จ่ายเป็นแพ็กเกจศัลยกรรมรวมโรงแรม หลังจากวิกฤตโควิดกลุ่มคนเหล่านี้หายหมดเลย

Advertisment

แต่ปรากฏว่ากลับมีกลุ่มที่ทดแทนเข้ามา นั่นคือ ลูกค้าภายในประเทศที่โตขึ้นมาอย่างมหาศาล ซึ่งถือว่าเอามาชดเชยได้ และโครงการที่เป็นการให้หยุดและกระตุ้นให้คนไปเที่ยวก็มีตัวเลขออกมาให้เห็นได้ชัดว่าได้ผลจริง ๆ

เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2 มาแล้ว ตอนนี้ขยายสิทธิการเข้าพักจากเดิม 10 สิทธิขึ้นมาเป็น 15 สิทธิแล้วและเพิ่มเป็น 1 ล้านห้อง รวมถึงขยายเวลาไปถึงเมษายนปีหน้า ครอบคลุมทั้งตรุษจีนและสงกรานต์เลย เพิ่มเงินสนับสนุนตั๋วเครื่องบินอีก 40% ไม่เกิน 3,000 บาทในจังหวัดท่องเที่ยวหลักแล้วขยายเวลาการจองเป็น 6 โมงถึงเที่ยงคืน

เห็นได้ชัดว่านโยบายของรัฐที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจมันได้ผลแล้ว ฉะนั้น การที่จะขยายต่อเนื่องเป็นเฟส 2 ผมว่ามันก็เป็นตัวหนึ่งที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

นอกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้ว การนำเทคโนโลยีเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังมีโครงการที่เป็น e-Wallet ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง หรือเป๋าตัง ฯลฯ ที่ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐจะใช้เทเม็ดเงินลงมา

Advertisment

อย่างโครงการคนละครึ่งต้องบอกว่าเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เมืองไทยไม่เคยมีมาก่อนในการที่จะเทเงินลงไปยังคนรากหญ้าได้จริง ฉะนั้น จะเห็นว่าตัวเลขของคนละครึ่งที่เพิ่งเปิดขึ้นมาในเฟส 2 มีคนใช้เยอะมาก ผมเองได้ไปเดินตามตลาดนัด ไปถามร้านขายหมูปิ้งย่างเขาก็บอกว่ามีคนมาใช้เยอะ ฟังแล้วก็ดีใจว่าเงินจากภาครัฐมันลงไปชุมชนจริง ๆ

และที่สำคัญคือ รัฐไม่ได้ลงฝ่ายเดียว มันเป็นการเอาเงินของประชาชนลงไปช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน

จากนี้ไปเราจะเริ่มเห็นว่ามีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้กับภาครัฐมากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีการมอบรางวัลให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีการใช้ดิจิทัลได้เป็นอย่างดี โดยหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA หลายหน่วยงานก็เริ่มหันมาใช้ดิจิทัลในองค์กรมากขึ้น นับจากนี้ไปเราคงจะเห็นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการเปลี่ยนแปลงประเทศมากขึ้น

ผมมองว่าใครที่จะมาบริหารประเทศต่อไปอาจต้องทำเป็นนโยบายขึ้นมา บอกได้เลยว่าดิจิทัลนี่แหละที่จะเป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึงประชากรในประเทศจริง ๆ